นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยสถานการณ์โรคฝีดาษลิง (ณ วันที่ 24 พ.ค. 65) ว่า ขณะนี้ยังไม่มีรายงานพบผู้ป่วยในประเทศไทย ทั้งนี้ มีการประเมินความเสี่ยงของการติดต่อโรคฝีดาษลิงในประเทศไทย ซึ่งมีโอกาสพบผู้ที่มีประวัติเดินทางมาจากประเทศที่มีการรายงานผู้ป่วย เช่น ไนจีเรีย สหราชอาณาจักรอังกฤษ แคนาดา สเปน และโปรตุเกส
สำหรับการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ในประเทศไทย จะเน้นการเฝ้าระวังโรค ในกลุ่มผู้เดินทางเข้าประเทศ, ผู้ป่วยรับการรักษาในโรงพยาบาล คลินิกโรคผิวหนัง คลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และผู้ดูแลสัตว์ป่านำเข้าจากทวีปแอฟริกา ขณะเดียวกัน ได้มีการเตรียมพร้อมทางห้องปฏิบัติการ และการเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ รวมทั้งเตรียมพร้อมทีมสอบสวนโรค และเวชภัณฑ์ ยา วัคซีน และอุปกรณ์การแพทย์แล้ว
นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า สำหรับร่างแนวทางการเฝ้าระวังโรคฝีดาษลิงของประเทศไทย มีนิยามของผู้ป่วยสงสัยโรคฝีดาษลิง เพื่อการติดตามอาการป่วย และตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการ (สอบสวนโรครายบุคคล) คือ ต้องมีประวัติมีไข้ หรือร่างกายมีอุณหภูมิมากกว่า 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป ประกอบกับมีอาการป่วยอย่างน้อย 1 อย่าง ได้แก่ เจ็บคอ ปวดศรีษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง หรือต่อมน้ำเหลืองโต
ทั้งนี้ อีกกรณีหนึ่ง คือ มีผื่น ตุ่มนูน กระจายตามใบหน้า ลำตัว ลักษณะเป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง หรือตุ่มตกสะเก็ด ร่วมกับ ประวัติเชื่อมโยงทางระบาดวิทยา ได้แก่ มีประวัติเดินทางมาจาก/อาศัยอยู่ในประเทศที่การรายงานการระบาดของโรคฝีดาษลิง ภายในประเทศ (Local transmission), มีประวัติร่วมกิจกรรมในงานที่มีรายงานพบผู้ป่วยเข้าข่าย/ยืนยันโรคฝีดาษลิง และมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดสัตว์ป่าประเภทสัตว์ฟันแทะ ลิง หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นำเข้าจากทวีปแอฟริกา
“ย้ำว่าขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีผู้ป่วยที่เข้าข่ายสงสัย หรือผู้ป่วยโรคนี้ โดยประเทศไทยจะเน้นเฝ้าระวังนักเดินทางจากต่างประเทศเป็นหลัก” นพ.จักรรัฐ กล่าว
ด้านสถานการณ์โรคฝีดาษลิงทั่วโลก (23 พ.ค. 65 ) พบว่า ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค. 65 มีผู้ป่วยรวมทั้งหมด 257 ราย แบ่งเป็นยืนยันแล้ว 169 ราย และผู้ป่วยสงสัย 88 ราย โดยพบใน 18 ประเทศ
ทั้งนี้ ข้อมูลทางระบาดวิทยาของโรคฝีดาษลิง จากการรายงานข้อมูลผู้ป่วยทั่วโลก พบว่า จากทั้งหมด 123 ราย เป็นเพศชาย 122 ราย เพศหญิง 1 ราย อายุ (n=61) ระหว่าง 20-59 ปี ส่วนอาการป่วย (n=57) คือ มีผื่น/ตุ่มนูน (98%), ไข้ (39%), ต่อมน้ำเหลืองโต (2%) และไอ (2%) โดยจากการตรวจสายพันธุ์ 9 ราย พบเป็นสายพันธุ์ West African Clade มีอัตราป่วยตายอยู่ที่ 1% ซึ่งน้อยกว่าสายพันธุ์ Central African Clade ที่มีอาการรุนแรง และมีอัตราป่วยตายอยู่ที่ 10%
นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ในส่วนของสัตว์รังโรค ขณะนี้ยังไม่มีความรู้ที่แน่ชัด แต่คาดว่าน่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก โดยเฉพาะในสัตว์กัดแทะและลิง ส่วนการติดต่อจากสัตว์สู่คน มาจากการสัมผัสกับสารคัดหลั่งหรือแผลของสัตว์ป่วย หรือการกินสัตว์ที่ปรุงไม่สุก ส่วนจากคนสู่คน มาจากการสัมผัสใกล้ชิด โดยเฉพาะแผลของผู้ป่วย รวมทั้งเสื้อผ้าและสารคัดหลั่งทางเดินหายใจ (Droplet respiratory particle) ของผู้ป่วยหรือสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อน นอกจากนี้ ยังมีการตั้งสมมติฐานว่าโรคฝีดาษลิง อาจสามารถติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์ แต่ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนเพียงพอ
สำหรับอาการของผู้ป่วย จะมีระยะฟักตัว (วันที่สัมผัส ถึงวันเริ่มป่วย) 5-21 วัน โดยผู้ป่วยจะมีอาการป่วยไม่รุนแรง ถึงรุนแรงปานกลาง แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ
- ช่วงอาการนำ (วันที่ 0-5) มีไข้ ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อและหมดแรง ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่อาการแรกที่มี มักจะเป็นอาการไข้ แต่ระยะออกผื่นมักจะเป็นช่วงที่สามารถแพร่เชื้อได้มาก
- ช่วงออกผื่น (ภายใน 1-3 วันหลังมีไข้) มีลักษณะการกระจาย เริ่มจากบริเวณหน้า และกระจายไปส่วนต่างๆ ของร่างกาย (Centrifugal pattern)
ทั้งนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่หายเองได้ แต่สามารถพบผู้ป่วยมีอาการรุนแรงได้ ในเด็กที่มีปัญหาด้านสุขภาพส่วนบุคคล เช่น มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น หรือในผู้ที่มีอาการแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อซ้ำซ้อน ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ การติดเชื้อเข้ากระแสเลือด และการติดเชื้อที่กระจกตา อาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 พ.ค. 65)
Tags: lifestyle, กระทรวงสาธารณสุข, จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์, ฝีดาษลิง