นายพจน์ หะริณสุต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ เปิดเผยว่า ตลาดสินทรัพย์เสี่ยงจะยังเผชิญกับปัจจัยความไม่แน่นอนที่อยู่ในระดับสูง ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในประเทศจีนที่เข้มงวด อีกทั้ง การดำเนินนโยบายการเงินแบบแข็งกร้าวของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ยังคงกดดัน Sentiment การลงทุนหุ้นโลกในระยะสั้น
อย่างไรก็ดี สำหรับธีมการลงทุนในเดือนนี้ บริษัทมองว่า หุ้นเติบโตที่ทั้งกำไร (Bottom line) และสถานะทางการเงินแข็งแกร่งมีกระแสเงินสดเป็นบวก (Net cash) รวมถึงหุ้น ASEAN และหุ้นญี่ปุ่น ที่ซื้อขายบนมูลค่าที่ต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐานค่อนข้างมากประกอบกับปัจจัยบวกจากการเตรียมกลับมาเปิดการเดินทางระหว่างประเทศอีกครั้งจะช่วยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเป็นกลุ่มหุ้นที่น่าสนใจ
นอกจากนี้มองว่า ความเสี่ยงด้านกฏระเบียบในตลาดหุ้นจีนมีค่อนข้างจำกัดแล้วในปีนี้ แม้ว่าในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2565 ตลาดหุ้นจีนปรับตัวลดลง จากปัจจัยกดดันที่หลากหลาย เช่น ความกังวลการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด การลดขนาดงบดุลทำให้สภาพคล่องในตลาดลดลง ภูมิรัฐศาสตร์ (รัสเซีย-ยูเครน) และความกังวลเศรษฐกิจชะลอตัวจากนโยบาย Zero-covid ก็ตาม
จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น บลจ.วรรณ มองว่า ตลาดหุ้นจีนจะเริ่มฟื้นตัวขึ้น หลังซึมซับปัจจัยลบไปค่อนข้างมากแล้ว โดยเฉพาะการใช้นโยบายการเงินตึงตัวกดดันค่าเงินหยวนให้อ่อนค่าและอาจจะกดดันกระแสเงินทุนให้ไหลออกจากตลาดหุ้น ขณะที่รัฐบาลจีนได้ส่งสัญญาณผ่อนคลายการจัดระเบียบบริษัทเทคโนโลยีมาตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม และพร้อมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังควบคุมการแพร่ระบาด Covid-19 ได้ เพื่อบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจเหนือระดับ 5% ในปีนี้
ขณะที่นโยบาย Zero-covid ยังคงปัจจัยกดดันต่อบรรยากาศการลงทุนในหุ้นจีนในระยะสั้นโดยเฉพาะถ้าหากมีการแพร่ระบาดสายพันธุ์ใหม่และต้องกลับไป Lockdown อีกครั้ง แต่เชื่อว่าจีนจะเร่งพัฒนาวัคซีน mRNA ของตนเองเพื่อใช้ในประเทศและปรับนโยบายเป็นอยู่ร่วมกับไวรัสเช่นเดียวกับนานาประเทศในท้ายที่สุด และในเชิงมูลค่าหุ้นเทียบกับโอกาสการเติบโต โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายของรัฐบาลในระยะยาวไม่ได้แพงมากแล้ว อาทิ รถยนต์พลังงานทางเลือก พลังงานแสงอาทิตย์ เซมิคอนดักเตอร์ การแพทย์
บริษัทแนะนำช่องทางลงทุนในตลาดหุ้นจีน ภายใต้การบริหารกองทุนเปิด วรรณ ออล ไชน่า อิควิตี้ (ONE-ALLCHINA) เป็นกองทุน Fund of Funds โดยกระจายการลงทุนไปในกองทุนหุ้นจีนอย่างหลากหลาย ซึ่งจุดเด่นของกองทุนนี้ คือ ผู้จัดการกองทุน บลจ.วรรณ สามารถปรับสัดส่วนแต่ละกองทุนฯได้อย่างยืดหยุ่นตามภาวะตลาดในแต่ละช่วงเวลา และป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจ
กลยุทธ์การลงทุนของกองทุน ONE-ALLCHINA ได้ปรับมากระจายการลงทุนไปยังกองทุนหุ้นจีนหลากหลายประเภทมากขึ้น โดยคงน้ำหนักส่วนมากในกองทุนของ Schroder ที่ผสมผสานทั้งหุ้นที่มีลักษณะ Old Economy และ New Economy ที่จะได้แรงหนุนจากปัจจัยบวกข้างต้น ขณะที่ยังลงทุนกองทุน UBS ซึ่งลงทุนระยะยาวในหุ้น New Economy แบบ Active และกระจุกตัว
พร้อมกับเพิ่มโอกาสการลงทุนในกองทุน T Rowe Price ที่มุ่งเน้นลงทุนหุ้นขนาดกลาง-เล็ก ที่มีแนวโน้มเติบโตไปกับเศรษฐกิจจีนยุคใหม่ (New Economy) และอาจจะก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทขนาดใหญ่แบบ Alibaba Tencent ได้ในอนาคต กองทุน Premia CSI Caixin ที่เน้นลงทุนหุ้น New Economy ในลักษณะแบบ Passive และกองทุน Allianz China A-Shares ที่เน้นลงทุนหุ้นจีน Onshore แบบ Active เชื่อว่ากลยุทธ์นี้จะช่วยลดความผันผวนจากการลงทุนในตลาดหุ้นจีนพร้อมทั้งเพิ่มโอกาสในการเติบโตระยะยาวมากกว่ากลยุทธ์เดิมที่โฟกัสเพียงกองทุนของ UBS Asset Management
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 พ.ค. 65)
Tags: กองทุนรวม, ตลาดหุ้นจีน, บลจ.วรรณ, พจน์ หะริณสุต, หุ้นจีน