In Focus: ฝีดาษลิงลามหลายประเทศ ควรตระหนัก แต่ไม่ตระหนก

สถานการณ์โรคโควิด-19 ยังไม่ทันหาย จู่ ๆ ก็มีโรคฝีดาษลิงเข้ามาแทรก โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่า ณ วันอังคาร (24 พ.ค.) มีจำนวนผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงที่ได้รับการยืนยันแล้ว 131 ราย และต้องสงสัยว่าติดเชื้ออีก 106 ราย นับตั้งแต่มีรายงานการพบผู้ติดเชื้อรายแรกเมื่อวันที่ 7 พ.ค. โดยผู้ติดเชื้อกระจายอยู่ใน 19 ประเทศนอกทวีปแอฟริกา

WHO แสดงความกังวลกับสถานการณ์ระบาดของโรคฝีดาษลิงในหลายประเทศดังกล่าว เพราะกรณีของผู้ป่วยที่พบในตอนนี้ไม่ได้มีความเชื่อมโยงกัน จึงสันนิษฐานได้ว่า โรคนี้อาจแพร่ระบาดมาสักระยะแล้ว พร้อมทั้งคาดการณ์ว่า จำนวนผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงจะเพิ่มขึ้นอีก แต่ผู้ติดเชื้อที่พบส่วนใหญ่จนถึงขณะนี้นั้นยังไม่พบผู้ที่มีอาการรุนแรง อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเฝ้าระวัง และจะได้ไม่วิตกกันมากจนเกินไปนั้น In focus สัปดาห์นี้ จะพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับโรคฝีดาษลิง

*ที่มาที่ไปของโรคฝีดาษลิง

โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยมีสัตว์ตระกูลฟันแทะ เช่น หนู กระรอกดิน เป็นแหล่งรังโรค แต่ก็สามารถติดต่อจากคนสู่คนด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม โรคนี้ไม่ใช่โรคใหม่ เพราะเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2493 โดยมีการตรวจพบไวรัสชนิดนี้ครั้งแรกในลิง จึงถูกตั้งชื่อว่าไวรัสฝีดาษลิง

ฝีดาษลิงเป็นโรคติดเชื้อไวรัส Othopoxvirus ซึ่งอยู่ในตระกูลเดียวกันกับเชื้อไวรัสโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ (Smallpox) โดยมักพบในแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก แต่ก็พบในประเทศอื่น ๆ ด้วย รวมถึงสหราชอาณาจักรซึ่งพบผู้ป่วยรายแรกในปี 2561 ซึ่งเชื่อว่าเป็นการติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิงจากประเทศไนจีเรีย

ไวรัสฝีดาษลิงมีอยู่ 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก และสายพันธุ์แอฟริกากลางหรือสายพันธุ์คองโกซึ่งมีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก ซึ่งการระบาดในต่างประเทศที่พบในปัจจุบันนั้นดูเหมือนส่วนใหญ่จะเป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก

ตามรายงานของสำนักงานความมั่นคงด้านสุขภาพแห่งสหราชอาณาจักร (UKHSA) ระบุว่า อาการของโรคฝีดาษลิงในระยะเริ่มแรกนั้นได้แก่ มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ต่อมน้ำเหลืองโตและหนาวสั่น รวมถึงมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น อาการอ่อนเพลีย

UKHSA ระบุว่า ไวรัสฝีดาษลิงยังทำให้เกิดผื่นบนผิวหนัง โดยมักเริ่มที่ใบหน้าจากนั้นจึงลามไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ผื่นจะกลายเป็นแผลหนอง และจะตกสะเก็ดในที่สุด

โดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงส่วนใหญ่จะหายเองได้ภายในไม่กี่สัปดาห์ แต่ในกรณีผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ มีโรคประจำตัว ก็อาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม หรือเสียชีวิตได้

*ไวรัสฝีดาษลิงแพร่ระบาดอย่างไร

ไวรัสฝีดาษลิงสามารถแพร่ระบาดจากคนสู่คนจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ซึ่งศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) แห่งสหรัฐระบุว่า การติดต่อจากคนสู่คนส่วนใหญ่นั้นเกิดขึ้นจากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของผู้ติดเชื้อ รวมถึงอุปกรณ์ที่มีการปนเปื้อนเชื้อ เช่น เสื้อผ้า หรือเครื่องนอนของผู้ติดเชื้อ

ดร.ไมเคิล เฮด นักวิจัยอาวุโสด้านสาธารณสุขระดับโลกที่มหาวิทยาลัยเซาแทมป์ตันกล่าวว่า โรคฝีดาษลิงอาจติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แม้ยังไม่ได้รับการยืนยัน แต่ก็น่าจะเป็นไปได้ เพราะเป็นการสัมผัสติดต่อใกล้ชิดกัน

“ไม่มีหลักฐานว่าฝีดาษลิงเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เหมือนกับ HIV” ดร.เฮดกล่าว “แต่การสัมผัสใกล้ชิดระหว่างการมีกิจกรรมทางเพศรวมถึงการติดต่อสัมผัสกันทางผิวหนังเป็นเวลานาน ก็อาจเป็นปัจจัยสำคัญในการแพร่เชื้อ”

*โรคฝีดาษลิงน่ากังวลหรือไม่

โรคฝีดาษลิงสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตกเป็นการติดเชื้อที่ไม่รุนแรงสำหรับคนส่วนใหญ่ แต่ก็เป็นปัญหาที่น่ากังวลสำหรับกลุ่มคนที่เปราะบาง เช่น ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ โดยผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า จำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น และการแพร่กระจายในชุมชนเป็นเรื่องที่น่ากังวล

อย่างไรก็ตาม ไม่น่าเป็นไปได้ที่จะมีเกิดการแพร่ระบาดครั้งใหญ่เหมือนกับโรคโควิด-19 และสามารถป้องกันการแพร่ระบาดได้ด้วยการฉีดวัคซีนให้กับผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ซึ่งเรียกว่าเป็นการฉีดวัคซีนแบบวงแหวน (Ring Vaccination) โดยไม่ต้องทำการฉีดวัคซีนเป็นวงกว้างเหมือนกับการป้องกันโรคโควิด-19

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (20 พ.ค.) สหราชอาณาจักรได้จัดเตรียมวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ (Smallpox) ซึ่งเป็นไวรัสในตระกูลเดียวกัน โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกบ่งชี้ว่า การฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษมีประสิทธิภาพประมาณ 85% ในการป้องกันโรคฝีดาษลิง

นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า สเปนกำลังหาซื้อวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ และประเทศอื่น ๆ เช่น สหรัฐก็มีสต็อกวัคซีนดังกล่าวจำนวนมาก

เจย์ ฮูเปอร์ นักไวรัสวิทยาจากสถาบันวิจัยโรคติดเชื้อแห่งกองทัพสหรัฐในเมืองฟอร์ต ดีทริค รัฐแมรีแลนด์กล่าวว่า ไวรัสฝีดาษลิงไม่เหมือนกับไวรัสโควิด-19 เพราะไวรัสฝีดาษลิงไม่ได้แพร่เชื้อจากคนสู่คนได้อย่างรวดเร็ว และเนื่องจากอยู่ในตระกูลเดียวกับไวรัสไข้ทรพิษ จึงมีวัคซีนอยู่แล้วเพื่อใช้ในการควบคุมการแพร่ระบาด ดังนั้น ขณะที่บรรดานักวิทยาศาสตร์มีความกังวลเกี่ยวกับพฤติกรรมใหม่ ๆ ของไวรัสฝีดาษลิงนั้น พวกเขาก็ไม่ถึงกับต้องตื่นตระหนกแต่อย่างใด

สำนักข่าวเดลี่เมลรายงานเมื่อวันจันทร์ (23 พ.ค.) ว่า เบลเยียมเป็นประเทศแรกที่ออกมาตรการเกี่ยวกับโรคฝีดาษลิง โดยกระทรวงสาธารณสุขเบลเยียมได้ออกมาตรการบังคับให้ผู้ที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยและผลออกมายืนยันว่าติดเชื้อฝีดาษลิง จะต้องกักตัวเป็นเวลา 21 วัน หรือ 3 สัปดาห์ เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสฝีดาษลิงแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่น

อย่างไรก็ตาม การพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงในบุคคลที่ไม่มีความเชื่อมโยงกันอย่างชัดเจนนั้น แสดงให้เห็นว่าไวรัสอาจแพร่กระจายอย่างเงียบ ๆ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ แอนเดรีย แมคคอลลัม นักระบาดวิทยาซึ่งเป็นหัวหน้าทีมศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริการะบุว่า “เป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง”

อย่างไรก็ดี แมคคอลลัมกล่าวว่า โรคฝีดาษลิงแตกต่างจากโรคโควิด-19 ซึ่งสามารถแพร่กระจายได้โดยไม่แสดงอาการ แต่โรคฝีดาษลิงมักจะสังเกตเห็นได้เมื่อติดเชื้อในคน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะรอยแผลที่เกิดขึ้นบนผิวหนัง

จากข้อมูลที่เธอได้รับจนถึงตอนนี้ แมคคอลลัมคิดว่า สำหรับการรับมือกับการระบาดของไวรัสฝีดาษลิงในปัจจุบันนั้น อาจไม่จำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ในการกักกันโรค นอกเหนือไปจากการฉีดวัคซีนแบบวงแหวน “แม้แต่ในพื้นที่ที่มีโรคฝีดาษลิงเกิดขึ้นทุกวัน” เธอกล่าว “เพราะไวรัสฝีดาษลิงยังเป็นโรคติดเชื้อที่พบได้ค่อนข้างยาก”

จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีรายงานการพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงในประเทศไทย แต่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขขึ้นมาเฝ้าระวังโรคฝีดาษลิงแล้ว โดยจะคัดกรองผู้เดินทางจากประเทศที่มีการระบาดเพื่อตรวจจับกลุ่มเสี่ยงได้รวดเร็วขึ้น และป้องกันการแพร่ระบาดในประเทศไทยเพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถรับมือได้ทัน

ส่วนพวกเราก็มีหน้าที่ในการป้องกันตัวเองจากโรคฝีดาษลิง เหมือน ๆ กับที่ยังคงต้องป้องกันตัวเองจากโรคโควิด-19 อยู่ในขณะนี้ เช่น การใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ หากมีอาการป่วยก็ควรกักตัวแยกห่างจากผู้อื่น และไปพบแพทย์

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 พ.ค. 65)

Tags: ,
Back to Top