ผลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.จากกระแส”แลนด์สไลด์”ของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กวาดคะแนนเสียงคนกรุงทุบสถิติ 1,386,769 คะแนน รวมทั้งผลเลือกตั้ง ส.ก.ปรากฎว่าขั้วฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทยได้ไป 20 เขต พรรคก้าวไกล 14 เขต จึงเกิดคำถามว่าจะเป็นการส่งสัญญาณเตือนพรรคการเมืองถึงความเปลี่ยนแปลงในสังคมก่อนจะมีการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้าหรือไม่
นายสุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า ผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่นายชัชชาติ ซึ่งเป็นผู้สมัครอิสระ ได้รับคะแนนสนับสนุนจากประชาชนอย่างถล่มทลายแบบแลนด์สไลด์นั้น สะท้อนให้เห็นว่าคนเมืองส่วนใหญ่ไม่เลือกรัฐบาล ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนให้พรรคการเมืองและนักการเมือง โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ต้องปรับตัวอย่างมากก่อนที่การเลือกตั้งใหญ่จะมาถึง
ขณะที่ผลเลือกตั้ง ส.ก.ย่อมทำให้พรรคเพื่อไทยมั่นใจมากขึ้นว่ามีโอกาสชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์อย่างที่เคยประกาศไว้หลังจากปรับโครงสร้างผู้บริหารพรรค หลังจากที่คว้า ส.ก.มาถึง 20 เขต จากทั้งหมด 50 เขต จึงเป็นเรื่องที่พรรคอื่นประมาทไม่ได้ ขณะที่พรรคก้าวไกล ได้รับเลือกตั้งรองลงมาถึง 14 เขต พิสูจน์ว่าได้รับความนิยมจากประชาชนไม่น้อย
ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ได้ 9 เขต และผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ของนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ตามนายชัชชาติมาเป็นอันดับ 2 แม้ผลคะแนนจะห่างค่อนข้างมาก แต่ก็ถือว่าคะแนนนิยมของพรรคประชาธิปัตย์ใน กทม.กลับมาฟื้นตัวหลังจากเคยสูญพันธุ์ไปในการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้านี้
“เรื่องแลนด์สไลด์เพื่อไทยคงนำไปคุยต่อ รวมถึงพรรคก้าวไกลที่ได้ ส.ก.หลายเก้าอี้ ซึ่งคงไปประมาทไม่ได้”
นายสุขุม กล่าว
อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า สาเหตุที่ประชาชนชาวกรงเทพฯ เบื่อรัฐบาล เพราะมองเห็นว่าพรรคพลังประชารัฐที่เป็นแกนนำรัฐบาลมีแต่เรื่องต่อรอง ตั้งแต่ยุคสี่กุมาร จนมาถึงกลุ่มสามมิตร ซึ่งในระยะยาวจะทำให้พรรคอ่อนแอ ซึ่งต้องรอดูกันต่อไปว่าจะมีการชวนก๊วนการเมืองไหนเข้ามาอีก
ขณะที่นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง มองว่า ชัยชนะของนายชัชชาติ ซึ่งเป็นผู้สมัครอิสระ เป็นการสะท้อนให้ภาพการเมืองบางส่วน แต่ไม่ได้สะท้อนภาพการเมืองใหญ่ระดับประเทศ เนื่องจากครั้งนี้เป็นการตัดสินใจของคน กทม. โดยเฉพาะชนชั้นกลาง แต่ภาพใหญ่ทั้งหมด หลัก ๆ ลักษณะการเมืองไทยที่ยังเป็นรูปแบบการอุปถัมภ์ ไม่ได้สนใจเรื่องนโยบาย แต่ผูกพันกับคน
“กรณีเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ไม่สามารถอธิบายภาพใหญ่ได้ทั้งหมด แต่สะท้อนได้บางส่วน โดยเฉพาะชุมชนเมืองที่มีการศึกษาสูง หรือกลุ่มที่มีเด็กหนุ่ม เด็กสาวเยอะๆ เท่านั้น ขณะที่ในอีกด้านหนึ่งไม่สะท้อน หรือสะท้อนไม่เพียงพอ เนื่องจากเป็นการผูกพันกับตัวบุคคล เช่น ชุมชนชนบท เป็นต้น”
นายสมชาย กล่าว
อีกส่วนที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ มีความเชื่อว่าการเมืองใดก็ตาม เมื่อรัฐบาลอยู่นานก็จะเกิดความเหนื่อยล้าทางการเมือง ต่อให้รัฐบาลเก่งขนาดไหน แต่ถ้าไม่มีอะไรใหม่ คะแนนนิยมจะออกมาชัดเจนเลยว่าลดลงไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกับตัวอย่างการเมืองในประเทศออสเตรเลียที่ขณะนี้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงแล้ว
“การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้สะท้อนการทำงานของรัฐบาลได้ว่า เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกับที่เกิดกับประเทศออสเตรเลีย เนื่องจากรัฐบาลอยู่นานแล้วไม่มีอะไรใหม่ ธรรมดาของคนต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง ประเด็นปัญหาที่รัฐบาลกำลังเผชิญอยู่ คือ 1.เรื่องการเมือง 2.เศรษฐกิจ และ 3.การแยกขั้ว”
นายสมชาย กล่าว
สำหรับภาพที่สะท้อนให้เห็น คือ ประชาชนต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง ทั้งทางการเมือง ที่อาจมองในลักษณะการเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ
ประเด็นที่สอง คือ สะท้อนถึงผลคะแนนที่สูงเป็นประวัติการณ์ และทิ้งห่างผู้สมัครอื่นๆ เนื่องจากบุคลิกของผู้สมัคร และมีการออกนโยบายที่ตรงประเด็น และมีนวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งนี้ส่วนหนึ่งมาจากสังคมวิทยาทางด้านผู้เลือกตั้ง โดยเห็นได้ชัดตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งที่แล้วว่า กลุ่มวัยรุ่นเป็นสัดส่วนที่มีน้ำหนักต่อการตัดสินใจพอสมควร
“กลุ่มหนุ่มสาว ไม่ต้องการเกี่ยวข้องกับเรื่องอย่างวลี ‘ไม่เลือกเรา เขามาแน่’ แต่ต้องการโลกที่สวยงาม เป็นประชาธิปไตย ซึ่งเป็นส่วนที่อธิบายได้ว่า ทำไมคะแนนเสียงของหมายเลข 1 และหมายเลข 3 จึงออกมาสูง ขณะเดียวกันก็สามารถอธิบายผลการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ได้ดีด้วย”
นายสมชาย กล่าว
นอกจากนี้ การนำโซเชียลมีเดียมาใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งนั้นถือว่าได้ผลลัพธ์ที่ดี เนื่องจากโซเชียลมีเดียจะทำให้เกิดการคล้อยตาม หรือเกิดการตลาดแบบปากต่อปาก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้นายชัชชาติได้คะแนนมากกว่าปกติ โดยเฉพาะจากกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ต (Netizen)
ทิศทางการเมืองหลังจากนี้ นายสมชาย มองว่า ภาพใหญ่ของคะแนนเสียงในอนาคต ฝั่งตรงข้ามรัฐบาลจะมีคะแนนเสียงเพิ่มมากขึ้น สะท้อนจากภาพที่ประชาชนต้องการการเปลี่ยนแปลง
อย่างไรก็ดี การที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้จริงหรือไม่นั้น ต้องอย่าลืมว่ากรณีนี้ไม่ได้สะท้อนภาพใหญ่ทั้งหมด เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังมีรอยต่อ เนื่องจากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ยังคงมีอยู่ ดังนั้น ใครที่จะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีต้องได้คะแนนเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.ด้วย
กรณีนี้เป็นประเด็นปัญหาทางการเมืองในอนาคต สมมติว่าฝ่ายค้านได้คะแนนเสียงมากกว่าครึ่งหนึ่ง แต่จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ เนื่องจากจะต้องขึ้นกับ ส.ว. ก็อาจทำให้เกิดความวุ่นวายได้ และรัฐบาลที่ตั้งขึ้นมาต้องได้คะแนนเสียงมากกว่าครึ่งหนึ่งไปถึงระดับหนึ่ง เพราะเมื่อเปิดอภิปรายในรัฐสภาจำเป็นต้องมีเสียงข้างมาก โดยเฉพาะหากเป็นประเด็นเรื่องงบประมาณ กรณีนี้จะสร้างปัญหาทางการเมืองได้ ยกเว้นกรณีที่ ส.ว.สนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างเห็นได้ชัด
“ในกรณีนี้สะท้อนถึงประเด็นปัญหาที่คิดว่ากำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ เพราะภาพหนึ่งฝ่ายค้านอาจจะได้คะแนนเสียงมากพอสมควร แต่ถามว่าจะเพียงพอที่จะตั้งรัฐบาลได้ไหมนั้น ต้องขึ้นอยู่กับ ส.ว. ด้วย ดังนั้น จึงแสดงปัญหาว่าการเมืองหลังจากนี้จะสะท้อนเพียงบางเรื่อง แต่อาจสะท้อนว่าในอนาคตอาจมีปัญหาเรื่องความขัดแย้งระบบเสียงข้างมากที่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ หาก ส.ว. ยังมีอำนาจอยู่”
นายสมชาย กล่าว
อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยได้หรือไม่นั้น มองว่า การเมืองไทยยังมีความไม่แน่นอนอยู่ แต่ภาพที่เห็นได้ชัดคือเสียงที่ออกมาในครั้งนี้จะเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้ฝ่ายค้าน โดยเฉพาะชุมชนเมือง ทั้งนี้ ประเทศไทยยังมีกลุ่มอนุรักษ์นิยมจึงยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่ อย่างไรก็ตาม ทางด้านรัฐบาลก็ยังมีโอกาสแก้ตัว แม้ว่าจะมีระยะเวลาจำกัด ซึ่งก็ต้องติดตามต่อไป
ขณะที่ นายสติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ผลเลือกตั้งที่ออกมาสะท้อนว่าประชาชนตอบรับและชื่นชอบผู้สมัครจากขั้วเสรีก้าวหน้า ขณะที่แกนนำรัฐบาลก็ไม่ได้ส่งตัวแทนมาชัดเจน ดังนั้นการเลือกตัวผู้สมัครรับการเลือกตั้งในอนาคตจึงมีความสำคัญว่าต้องเป็นผู้ที่ประชาชนชื่นชอบและให้การยอมรับ
“คนที่ชนะเลือกตั้งผู้ว่าฯ มีคะแนนมาจากทุกกลุ่ม คิดว่ามาจากองค์ประกอบที่พร้อมมากสุด ทั้งโปรไฟล์ส่วนตัว บุคลิกภาพที่สัมผัสได้ ตอบโจทย์ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากสุด” นายสติธร กล่าว
ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตยฯ กล่าวว่า คนที่เลือกนายชัชชาติคงไม่ได้หวังว่านโยบายหาเสียงจะสามารถปฏิบัติได้ทั้งหมด ขอเพียงให้มีความคืบหน้า หรือดีขึ้นกว่าเดิมเท่านั้น ตนคิดว่าคน กทม.น่าจะช้ำใจกับผู้บริหารที่ผ่านมาจึงไม่ได้ตั้งความหวังไว้สูงมากนัก ขอเพียงแค่เข้ามาเยียวยาสถานการณ์ต่างๆ ให้ดีขึ้น
“คงไม่ถึงกับทำได้ครบ 100% แค่ให้สัมผัสได้ว่าดีขึ้น ไม่ว่าเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ แต่อาจจะหวังมากกว่าผู้สมัครคนอื่นๆ เท่านั้น เช่น แก้น้ำท่วมขังจากที่เคยหมดไปภายใน 1 ชั่วโมงก็ให้เหลือสัก 20 นาที” นายสติธร กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 พ.ค. 65)
Tags: ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, พรรคก้าวไกล, พรรคพลังประชารัฐ, พรรคเพื่อไทย, สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์, สุขุม นวลสกุล, เลือกตั้ง