นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติผ่อนผันการใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) ซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (รายงาน EIA) เพื่อใช้ประกอบการดำเนินโครงการแล้ว
โดยการขอยกเว้นการใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ จะอยู่ในช่วงสระบุรี-นครราชสีมา ในส่วนงานอุโมงค์ (สัญญางานโยธาที่ 3-2 หมวกเหล็กและลำตะคอง) มีระยะทางของอุโมงค์และแนวเส้นทางโครงการที่ต้องพาดผ่านลุ่มน้ำ ชั้นที่ 1 เอ ในพื้นที่จังหวัดสระบุรีและจังหวัดนครราชสีมา รวม 5,270 เมตร โดยใช้รายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ฉบับเดิม ซึ่งการเสนอ ครม.อนุมัติเป็นขั้นตอนที่ต้องดำเนินการให้ครบถ้วน
รมว.คมนาคม กล่าวว่า ปัจจุบันการดำเนินการก่อสร้างงานโยธา โครงการรถไฟไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 250.77 กม. ขณะนี้มีความล่าช้ากว่าแผน เนื่องจากติดขัดปัญหาในหลายประเด็น ซึ่งตนได้สั่งการให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เร่งดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป และแก้ไขสัญญาที่มีปัญหาโดยเร็ว เพื่อให้สามารถดำเนินการก่อสร้างได้แล้วเสร็จตามแผน เช่น กรณีสถานีอยุธยา (สัญญา 4-5) ซึ่ง รฟท.ได้ประมูลเรียบร้อยแล้ว
แต่เนื่องจากแบบตัวสถานีที่ใช้ประมูลนั้น เป็นแบบตามรายงาน EIA ฉบับปรับปรุง ซึ่งมีประเด็นเรื่องสถานีอยุธยา จึงทำให้ EIA ฉบับปรับปรุงยังไม่ได้รับอนุมัติ ดังนั้น เพื่อให้สามารถลงนามสัญญากับผู้รับจ้างได้ จะต้องเร่งพิจารณาหาทางออก เช่น กรณีใช้แบบตัวสถานีอยุธยา ตามรายงาน EIA ฉบับเดิมที่ได้รับอนุมัติแล้วก่อสร้าง ซึ่งเรื่องนี้ รฟท.จะต้องหารือกับผู้รับจ้าง เพราะจะต้องปรับรายละเอียดของราคาค่าก่อสร้างลง หรือตัดเนื้องานในส่วนของสถานีอยุธยาออก เนื่องจากรายงาน EIA ฉบับปรับปรุง ยังไม่ได้รับอนุมัติ ซึ่งคาดว่าจะกลับไปใช้แบบสถานีตามรายงาน EIA เดิม ซึ่งเรื่องนี้ รฟท.เร่งเจรจากับผู้รับเหมา คาดว่าจะได้ข้อยุติภายในเดือนพ.ค.นี้ เพื่อนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.และนำไปสู่การลงนามสัญญาก่อสร้างต่อไป
สำหรับสัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.30 กม. ขณะนี้ รฟท.อยู่ระหว่างให้บริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัด (ในเครือ บมจ.ซีวิลเอนจิเนียริง) ผู้เสนอราคาลำดับที่ 3 มาเจรจา วงเงินอยู่ที่ 10,326 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าราคากลางที่ 11,801 ล้านบาท
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 พ.ค. 65)
Tags: รถไฟความเร็วสูง, ศักดิ์สยาม ชิดชอบ