นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงไทย (KTAM) และนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน เปิดเผยถึงภาพรวมเศรษฐกิจและการลงทุนทั่วโลกว่า แม้การฟื้นตัวเศรษฐกิจในช่วงต้นปี 65 จะไม่เท่าเทียมและไม่ทั่วถึง โดยปัจจัยหลัก ๆ มาจากเรื่องของเงินเฟ้อ การปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์และอาหาร ซึ่งเป็นแรงผลักดันเงินเฟ้อด้านอุปทาน และสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ รวมถึงผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในหลายประเทศ ที่เป็นปัจจัยหลักที่กดดันสินทรัพย์เสี่ยงในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความกังวลต่อตัวเลขเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก
โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ปรับท่าทีต่อการดำเนินนโยบายการเงินไปสู่ทิศทางที่ตึงตัวมากขึ้น ทั้งการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย และการลดปริมาณการเข้าซื้อพันธบัตร (QT) นอกจากนี้ ธนาคารกลางในหลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (EM) ก็ได้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อและป้องกันเงินทุนไหลออก ขณะที่ธนาคารยุโรปแม้จะยังสงวนท่าทีอยู่ แต่มีแนวโน้มที่จะเริ่มเข้าสู่ความตึงตัวมากยิ่งขึ้นจากปัญหาเงินเฟ้อ จึงนับว่าเป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้
ส่วนของเศรษฐกิจไทยนั้น การฟื้นตัวในไตรมาส 1/65 ทำได้ดีกว่าที่หลายฝ่ายคาด จากการบริโภคภายในประเทศที่ได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นจากรัฐบาล และการส่งออกที่ยังคงดีต่อเนื่องตามภาวะอุปสงค์โลกที่เร่งตัว อย่างไรก็ตาม การระบาดของ COVID-19 ที่เกิดขึ้นหลายระลอกอาจทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจถูกกดดัน ส่งผลให้ภาคท่องเที่ยวฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังคงดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำที่ 0.5% ต่อเนื่อง
แต่ในกรณีที่ควบคุมการระบาดได้แล้ว มีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมในประเทศและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการเข้าประเทศของนักท่องเที่ยว ก็จะทำให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มกลับมาดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี และอาจทำให้มีแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายในประเทศจะถูกปรับขึ้น 0.25% ในช่วงปลายปี
สำหรับตลาดการลงทุนในปี 65 นี้ นับว่ามีความผันผวนค่อนข้างรุนแรงจากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น หลายสินทรัพย์ได้มีการปรับตัวลงในวงกว้าง ทำให้นักลงทุนส่วนมากปรับตัวเข้าสู่โหมด “ลดความเสี่ยง” (Risk-off) มากขึ้น บริษัทจึงมีแนวทางในการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภท โดยมองในส่วนของตลาดตราสารหนี้ว่าเป็นสินทรัพย์ที่น่าสนใจ เนื่องจากมีการปรับตัวลดลงมากจากต้นปีเนื่องจากธนาคารกลางมีแนวทางในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ทำให้อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันมีการปรับตัวเพื่อรองรับการขึ้นดอกเบี้ยมาพอสมควรแล้ว โดยประมาณการว่าอัตราเงินเฟ้อน่าจะถึงจุดสูงสุดในปลายปี 65 จากนั้นจะมีการปรับตัวลดลงอยู่ในระดับที่ธนาคารกลางสามารถควบคุมได้ ถึงแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะมีการปรับตัวสูงขึ้นแต่อาจจะไม่ปรับตัวสูงขึ้นมากและรวดเร็วกว่าในระยะเวลาที่ผ่านมา
ประกอบกับตลาดหุ้นโดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ และตลาดยุโรป ยังมีความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับตัวลดลง เนื่องจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเป็นการสกัดกั้นสภาวะเงินเฟ้อและการ sanction ของสหรัฐฯ และยุโรปต่อรัสเซีย ส่งผลให้ต้นทุนด้านพลังงานและอาหารเพิ่มสูงขึ้นทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และยุโรปมีการเติบโตที่ช้าลงทำให้ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อผลประกอบการของบริษัทต่าง ๆ
ในส่วนของตลาดหุ้น มีความสนใจในตลาดหุ้นเอเชียมากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว เนื่องจากที่ผ่านมามีการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนไปประเทศที่พัฒนาแล้ว และเมื่อพิจารณาด้านราคาจะเห็นว่าตลาดหุ้นเอเชียมีราคาที่ถูกกว่า ทั้งยังมีการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่ได้ประโยชน์ในสภาวะเงินเฟ้อ เช่น กลุ่มสินทรัพย์โภคภัณฑ์ และทองคำ โดยแนะนำให้น้ำหนักของตราสารหนี้ 40% ให้น้ำหนักตราสารทุน 50% และทองคำ 10%
สำหรับภาพรวมการบริหารของ KTAM ในฐานะบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมชั้นนำของประเทศ มุ่งหวังที่จะมีส่วนร่วมในการสร้างอนาคตทางการเงินที่ดีขึ้นให้แก่นักลงทุน โดยยึดแนวทางในการดำเนินธุรกิจ 5 ส. ได้แก่ สร้างสรรค์ สำเร็จ สัตย์ซื่อ สามัคคี และสังคม ทั้งยังตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงและความผันผวนที่เกิดขึ้นทั่วโลกอย่างรวดเร็ว จึงได้พยายามเฟ้นหาโอกาสการลงทุนในรูปแบบใหม่ นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์กับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
โดยจะมีการนำเสนอกองทุนประเภท Thematic และกองทุนที่เหมาะสมกับภาวะ Risk off ของนักลงทุนมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และยังเป็นการสร้างโอกาสให้นักลงทุนมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ ได้ยึดหลักการบริหารจัดการอย่างรอบคอบระมัดระวัง ภายใต้กระบวนการการกำกับดูแลที่ดีโดยคำนึงถึงประโยชน์ของนักลงทุนเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มเกิดวิกฤติจากการแพร่ระบาดตั้งแต่ 2 ปีที่ผ่านมา KTAM ได้ตั้งรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และเล็งเห็นถึงวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของนักลงทุน นอกจากการปรับตัวที่ต้องเร็วและทันกับยุคสมัยแล้ว ช่องทางการให้บริการก็เป็นสิ่งจำเป็นไม่แพ้กัน บริษัทจึงได้เปิดแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ให้มีความหลากหลาย ตอบโจทย์ชีวิตสมัยใหม่ของนักลงทุน เช่น Facebook, YouTube, Line, Instagram, Twitter, Clubhouse, PodBean, Blockdit และ Spotify เป็นต้น เพื่อให้นักลงทุนสามารถเข้าถึงข้อมูลผลิตภัณฑ์และบทวิเคราะห์ต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดายและรวดเร็วตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา จากการนำเสนอข้อมูลการลงทุนอย่างทันท่วงทีแล้ว
เรายังได้ทำการ update ข้อมูลการลงทุนในรูปแบบ Live อย่างต่อเนื่องในเช้าของทุกวันทำการผ่านช่องทาง Facebook, YouTube และ Clubhouse โดยในขณะ Live นักลงทุนที่มีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้เพื่อประโยชน์ในการตัดสินใจลงทุน ซึ่งทำให้ได้รับกระแสตอบที่ดีจากนักลงทุนเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ปัจจุบันเราเป็น บลจ.อันดับ 1 ที่มีผู้ติดตามสูงสุดในช่องทาง Facebook ด้วยจำนวนผู้ติดตามกว่า 300,000 ราย โดยข้อมูล ณ 31 ธันวาคม 2564 บริษัทฯ มีฐานลูกค้าในทุกดิจิทัลแพลตฟอร์มรวม PVD online และ Krungthai NEXT จำนวน 1,092,131 ราย เติบโตถึง 36.6% เทียบจากปี 2563 และในปีนี้เรายังมุ่งหวังที่จะขยายฐานลูกค้าอย่างต่อเนื่องโดยวางเป้าหมายให้เติบโตจากปี 2564 ถึง 40%
นอกจากนี้ ยังคงเดินหน้าส่งเสริมด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง โดยได้คำนึงถึงวิถีชีวิตในยุคดิจิทัล (Digital Lifestyle) ที่เปลี่ยนไปของนักลงทุน จึงได้มุ่งพัฒนาแอปพลิเคชั่น KTAM Smart Trade เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุน ช่วยให้นักลงทุนสามารถทำธุรกรรมต่าง ๆ เพียงปลายนิ้วได้อย่างรวดเร็วผ่านช่องทางออนไลน์โดยไม่ต้องไปที่ธนาคารหรือจัดเตรียมสำเนาเอกสารให้ยุ่งยาก ซึ่งนอกจากการเปิดบัญชีซื้อขายกองทุน และทำรายการได้แบบเรียลไทม์ (Online Open Account) แล้ว ยังมีแผนที่จะเพิ่มฟังก์ชั่นให้นักลงทุนสามารถลงทุนได้ตาม Portfolio Model ตามคำแนะนำได้สะดวกขึ้น อีกทั้งเรายังใช้เทคโนโลยีความปลอดภัยต่าง ๆ ภายในโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลของลูกค้าทั้งหมดจะถูกเก็บไว้อย่างปลอดภัยโดยไม่ต้องกังวล รวมถึงการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในด้านต่าง ๆ เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของนักลงทุนที่ทันสมัยยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันบริษัทฯ มีนักลงทุนที่ใช้บริการผ่าน KTAM Smart Trade แล้วกว่า 41,000 บัญชี
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 พ.ค. 65)
Tags: KTAM, ชวินดา หาญรัตนกุล, บลจ.กรุงไทย, เงินเฟ้อ