นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการแนวทางการปรับปรุงระยะเวลาการพิจารณาอนุญาตและการทบทวนกฎหมายตาม พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 เพื่อให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการ เพื่อตอบสนองความต้องการประชาชนและผู้ประกอบการให้ได้รับความสะดวก รวดเร็ว ในการติดต่อขอรับบริการภาครัฐ โดยกำหนดแนวทางการปรับปรุงระยะเวลาการพิจารณาอนุญาต และการทบทวนกฎหมายตาม พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกฯ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปเป็นแนวทางในการปรับปรุงระยะเวลา การพิจารณาอนุญาตและทบทวนกฎหมายให้เอื้อต่อกระบวนการพิจารณาอนุญาต เพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการได้รับการบริการจากภาครัฐที่เร็วขึ้น ง่ายขึ้น ค่าใช้จ่ายที่ถูกลงและเพิ่มความสะดวกในการประกอบธุรกิจ โดยแบ่งกลุ่มกระบวนงานออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
(1) กลุ่มกระบวนงานที่มีผลกระทบสูง จำนวน 31 กระบวนงาน เช่น การขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน การขออนุญาตให้เป็นผู้นำของเข้า ผู้ส่งออกของ การออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม การขอใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานทำงานในประเทศ และการขึ้นทะเบียนเกษตรกร โดยมีเป้าหมายให้หน่วยงานของรัฐทบทวนกระบวนงานและปรับลดระยะเวลาการดำเนินการลงไม่น้อยกว่า 50% ภายในปี 65
(2) กลุ่มกระบวนงานทั่วไป เช่น การอนุญาต การจดทะเบียน หรือการแจ้งที่มีกฎหมายหรือกำหนดให้ต้องขออนุญาตฯ มีเป้าหมายให้หน่วยงานของรัฐเสนอกระบวนงานที่สามารถปรับลดระยะเวลาการดำเนินการลง 30-50% มาดำเนินการภายในปี 65
โดยแนวทางการปรับปรุงระยะเวลาการพิจารณาอนุญาต เช่น พิจารณายุบเลิก ยุบรวมขั้นตอนที่ไม่จำเป็น การเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ทบทวน และปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการบริการของหน่วยงาน นำมาตรฐานระยะเวลาการให้บริการตามผลการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) เป็นเป้าหมายในการพิจารณาปรับลดระยะเวลาการดำเนินการ ปรับปรุงคู่มือสำหรับประชาชนให้สอดคล้องกับการปรับปรุงระยะเวลาการดำเนินการ ปรับลดระยะเวลาการพิจารณาอนุญาตต้องไม่กระทบต่อคุณภาพการให้บริการ กรณีไม่สามารถลดระยะเวลาการให้บริการลงได้อีกหรือมีปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการให้รายงานไปยังสำนักงาน ก.พ.ร.
สำหรับแนวทางการทบทวนกฎหมายเพื่อปรับปรุงกระบวนการพิจารณาอนุญาต เช่น การพิจารณาใช้ระบบอนุญาตในกฎหมาย โดยนำคำแนะนำของคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย เรื่อง การใช้ระบบอนุญาตในกฎหมายมาเป็นแนวทางในการดำเนินการ การทบทวนกฎหมาย เพื่อยกเลิกการอนุญาต เช่น กฎหมายที่มีความซ้ำซ้อนกันหลายหน่วยงาน การทบทวนกฎหมายเพื่อปรับปรุงการอนุญาต เช่น การปรับปรุงขั้นตอน การนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการให้บริการ
ทั้งนี้ สำนักงาน ก.พ.ร.ได้ศึกษาขั้นตอนและระยะเวลาในการอนุญาตของหน่วยงานของรัฐจำนวน 3,827 กระบวนงาน จาก 132 หน่วยงาน ได้แก่ ขั้นตอนการยื่นเอกสาร การพิจารณาอนุญาต และการลงนาม พบว่าหน่วยงานแต่ละแห่ง มีการกำหนดระยะเวลาดำเนินการที่แตกต่างกัน จึงได้นำค่ากลางของระยะเวลาการดำเนินการ มากำหนดเป็นมาตรฐานระยะเวลาการให้บริการเพื่อให้หน่วยงานของรัฐ นำไปใช้เป็นแนวทางในการทบทวนระยะเวลาการดำเนินการให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน อาทิ ขั้นตอนการยื่นเอกสาร กำหนดมาตรฐานระยะเวลาการให้บริการ ไม่เกิน 1 วันทำการ, ขั้นตอนการพิจารณากำหนดมาตรฐานระยะเวลาการให้บริการ จำแนกตามลักษณะงาน และความซับซ้อนของเอกสาร เช่น การตรวจพิจารณาเอกสารจำนวน 1-10 รายการ หรือเอกสารยืนยันตัวตน หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานผู้อนุญาต ไม่เกิน 2 วันทำการ, การตรวจสอบสถานที่ ไม่เกิน 15 วันทำการ, การตรวจสอบเครื่องมืออุปกรณ์/เครื่องจักร ไม่เกิน 2 วันทำการ, การพิจารณาโดยคณะกรรมการ ไม่เกิน 29 วันทำการ, การลงนาม หรือคณะกรรมการมีมติ ไม่เกิน 1 วันทำการ
“นายกรัฐมนตรีได้กำชับส่วนราชการที่อาจมีปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานตามกรอบระยะเวลาดังกล่าว ให้เร่งพิจารณากำหนดกรอบระยะเวลาที่เหมาะสมในแต่ละกระบวนงานให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน เพราะการปรับปรุงระยะเวลาพิจารณาอนุญาตในกระบวนงานที่มีความสำคัญต่อการสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม และยังเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศด้วย”
นายธนกร ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 พ.ค. 65)
Tags: กฎหมาย, ธนกร วังบุญคงชนะ, ประชุมครม., มติคณะรัฐมนตรี