นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สถานการณ์พลังงานในทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ได้รับผลกระทบของวิกฤตจากความขัดแย้ง ระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งเป็นการเผชิญวิกฤติซ้อนวิกฤติ หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 ที่ยืดยื้อทำให้ทรัพยากรที่เคยสมดุลต้องขาดแคลน มีผลให้ราคาสินค้า ราคาพลังงาน และค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น
โดยรัฐบาลได้เร่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เช่น วิกฤติพลังงาน สินค้าขาดแคลน ความยากจน เพื่อให้ประชาชนอยู่รอดอย่างพอเพียง ด้วยมาตรการลดค่าครองชีพ เช่น การช่วยเหลือเพื่อซื้อก๊าซหุงต้ม การช่วยเหลือค่าน้ำมันให้กับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง การช่วยลดภาระค่าไฟฟ้า การตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล ตลอดจนการลดอัตราเงินสมทบของนายจ้างและลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม เป็นต้น
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้กระทรวงพลังงานได้มีการอุดหนุนราคาน้ำมันผ่านกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งล่าสุดมีการใช้วงเงินไปแล้วกว่า 112,000 ล้านบาททำให้สถานะของทางกองทุนติดลบอยู่ที่ 72,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่ารัฐบาล จะดูแลเรื่องดังกล่าวและบริหารจัดการเพื่อช่วยลดภาระประชาชน ควบคู่ไปกับการผลักดันให้เกิดการใช้รถไฟฟ้าหรือ EV ให้มากขึ้นในอนาคต เพื่อให้เกิดความยั่งยืนด้านพลังงาน รวมไปถึงการกระตุ้นการใช้พลังงานหมุนเวียนลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล เพื่อลดต้นทุนทั้งในการผลิตไฟฟ้าและการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน สนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อลดปัญหามลพิษ และรักษาสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันของหลายประเทศในอาเซียนก็ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ราคาน้ำมันเบนซินอ้างอิง ณ วันที่ 16 พฤษภาคม 2565 ประเทศไทยขายอยู่ที่ 41.95 บาท/ลิตร กัมพูชา 48.33 บาท/ลิตร และสิงคโปร์ 79.40 บาท/ลิตร ส่วนราคาน้ำมันดีเซลอ้างอิง ณ วันที่ 16 พฤษภาคม เช่นกัน ประเทศไทยขายอยู่ที่ 31.94 บาท/ลิตร กัมพูชา 47.05 บาท/ลิตร และสิงคโปร์ 75.92 บาท/ลิตร โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกำชับให้รัฐบาลติดตามประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และต่อเนื่อง เพื่อหาแนวทางการช่วยเหลือให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศชาติ และประชาชน ในระยะต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 พ.ค. 65)
Tags: lifestyle, ธนกร วังบุญคงชนะ, พลังงาน, ราคาน้ำมัน, ราคาพลังงาน