นางแองเจลา วิลคินสันจากสภาพลังงานโลกให้สัมภาษณ์ในรายการ “แคปิตอล คอนเนกชัน” ของสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซีในวันพฤหัสบดี (19 พ.ค.) ว่า วิกฤตการณ์น้ำมันในปัจจุบันนั้นแตกต่างจากวิกฤตการณ์น้ำมันในอดีต และผู้บริโภคจะต้องแบกรับผลกระทบ ในขณะที่เผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น
“ดิฉันคิดว่านี่คือภาวะตื่นตระหนกทางพลังงานโลกครั้งแรก ซึ่งแตกต่างไปจากวิกฤตน้ำมันในช่วงทศวรรษ 1970 โดยครั้งนี้เป็นวิกฤตการณ์ที่ขับเคลื่อนโดยผู้บริโภค และเป็นการปรับเปลี่ยนที่ขับเคลื่อนโดยผู้บริโภค ซึ่งจะมีผลลัพธ์ที่สำคัญอย่างยิ่ง”
การพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันเกิดขึ้น หลังรัสเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่นั้นยกพลบุกโจมตียูเครนในช่วงปลายเดือนก.พ. ซึ่งนำไปสู่ภาวะชะงักงันด้านห่วงโซ่อุปทานโลกครั้งสำคัญในภาคพลังงาน เนื่องจากบรรดาชาติตะวันตกพร้อมใจกันออกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียอย่างหนักโทษฐานที่รุกรานยูเครน
นอกจากนี้ สหภาพยุโรป (EU) ได้มีการเสนอให้ทยอยสั่งห้ามนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย ซึ่งเพิ่มแรงกดดันให้กับราคาพลังงานมากยิ่งขึ้น
ณ ช่วงเช้าวันศุกร์ (20 พ.ค.) ที่ตลาดเอเชีย ราคาน้ำมันดิบเบรนท์พุ่งขึ้นกว่า 42% แล้วนับตั้งแต่ต้นปีนี้ โดยล่าสุดเคลื่อนไหวอยู่ที่ประมาณ 111 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งสูงกว่าระดับที่ต่ำกว่า 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงต้นปีนี้อย่างมาก
ในปี 2516 นั้น บรรดาผู้ผลิตน้ำมันในตะวันออกกลางได้ระงับการขายน้ำมันให้กับสหรัฐและประเทศตะวันตกอื่น ๆ หลังจากประเทศเหล่านี้ช่วยเหลืออิสราเอลในสงครามอาหรับ-อิสราเอลในปีนั้น โดยการปฏิวัติอิหร่านระหว่างปี 2521–2522 ซึ่งนำไปสู่การโค่นอำนาจชาห์แห่งอิหร่านนั้น ได้จุดชนวนภาวะตื่นตระหนกด้านพลังงาน
นางวิลคินสันเตือนว่า หากพิจารณาถึงราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันกลั่นในหลายพื้นที่ของโลก จะเห็นได้ว่าประชาชนครึ่งล่างของสังคมจำนวนมากไม่สามารถแบกรับราคาที่สูงได้แล้วในขณะนี้ “เราจะได้เห็นการโยกย้ายเงินครั้งใหญ่จากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ โดยผู้บริโภคจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 พ.ค. 65)
Tags: น้ำมัน, พลังงาน, ราคาน้ำมัน, วิกฤตน้ำมัน