นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษงาน Better Thailand ในหัวข้อ “สังคมยุคใหม่ กฎหมายทันสมัย ระบบราชการทันโลก แก้คอร์รัปชั่นทันที” ว่า ในชีวิตประจำวันของประชาชนตั้งแต่แรกเกิดจนถึงเสียชีวิต มีความจำเป็นที่จะต้องติดต่อกับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งปัจจุบันมีข้าราชการ, เจ้าหน้าที่รัฐทั่วประเทศรวมกันกว่า 2.5 ล้านคน ในขณะที่ระบบราชการมีการบังคับใช้กฎหมายกว่า 500 ฉบับ และเมื่อรวมกับกฎหมายลูกต่างๆ แล้วจะเป็นหมื่นกว่าฉบับ ซึ่งจะพบกว่ากฎหมายหลายฉบับที่ยังมีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน มีปัญหาทั้งในแง่ของความซ้ำซ้อน เข้าใจยาก และล้าสมัย โดยกฎหมายบางฉบับออกมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 หรือก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
ขณะที่ระบบราชการเอง ที่ผ่านมามักจะถูกมองว่าเป็นการทำงานแบบเช้าชาม-เย็นชาม สร้างภาระ และไม่เป็นมิตรกับประชาชน กฎหมายบางฉบับเปิดช่องให้มีการใช้ดุลยพินิจในการตัดสินใจได้ กลไกการตรวจสอบเข้าไปไม่ถึง จึงนำมาซึ่งโอกาสที่จะทำให้เกิดการทุจริตคอรรัปชั่นได้ง่าย
“ในเมื่อกลไกการตรวจสอบมีน้อย คำว่าเงินใต้โต๊ะ รีดไถ อมเงินทอน จึงระบาดไปทั่ว และนี่คือสภาพของระบบราชการ ณ กาลครั้งหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ดังนั้นเราจะแก้ไขอย่างไร เพราะหากปล่อยไว้แบบนี้คงจะไม่ได้ ประเทศชาติจะล่มจม ถ้ากฎหมายและระบบราชการเป็นแบบเดิมๆ มีการทุจริตคอรัปชั่น ประเทศก็อยู่ไม่ได้ นักลงทุนก็ไม่อยากจะเข้ามาลงทุน” นายวิษณุระบุ
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในเมื่อโจทย์ของประชาชนคือต้องการเห็นการติดต่อราชการที่มีความสะดวกรวดเร็ว ระบบราชการที่มีความเป็นธรรม ไม่ทุจริตคดโกง และการมีกฎหมายที่ทันต่อสถานการณ์ สิ่งเหล่านี้สามารถทำได้ แต่ทั้งหมดต้องอาศัยเวลาและความร่วมมืออย่างเข้มแข็งจากทุกฝ่าย อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันเรื่องดังกล่าวได้มีความพยายามปรับปรุงแก้ไขให้ได้ขึ้นมากแล้ว ผ่าน 3 มาตรการหลัก คือ 1.มาตรการด้านบริหาร 2.มาตรการด้านปกครอง และ 3.มาตรการด้านกฎหมาย
โดยมาตรการด้านบริหาร จะต้องดำเนินการใน 3 ส่วน ทั้งบุคลากร, งบประมาณ และเทคโนโลยี คือ การเพิ่มอัตรากำลังหรือการบริหารบุคลากร รวมทั้งจัดสรรงบประมาณเพื่อนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ ซึ่งจะช่วยทุ่นแรงและทุ่นเวลาลงได้ ดังจะเห็นตัวอย่างได้ชัดเจนในช่วงสถานการณ์ระบาดโควิดที่งดการเดินทางออกจากบ้าน ทำให้หน่วยงานราชการหลายแห่งจัดการประชุมผ่านระบบออนไลน์แทน ซึ่งพบว่าช่วยให้ประหยัดเวลา ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และการจ่ายเบี้ยเลี้ยงหรือโอทีลงไปได้มาก
ส่วนมาตรการด้านปกครอง ต้องมีการพัฒนาข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ ฝึกอบรมให้ความรู้ และการปรับทัศนคติใหม่ว่าการทำงานยุคใหม่ของราชการคือการให้บริการประชาชนให้ได้รับความสะดวกรวดเร็ว รับฟังเสียงจากประชาชน และมีโอกาสที่จะถูกตรวจสอบจากประชาชนมากขึ้น
ขณะที่มาตรการด้านกฎหมาย จะต้องยึดหลักนิติธรรม พึงระลึกเสมอว่า ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ที่เพิ่งถูกเขียนขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย บัญญัติว่า รัฐพึงออกกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และก่อนออกกฎหมายจะต้องถามความเห็นจากประชาชนก่อนเสมอ เมื่อการบังคับใช้กฎหมายผ่านไป 5 ปี จะต้องมีการประเมินผลว่ามีความคุ้มค่าหรือไม่ ถ้าไม่จำเป็นก็สามารถยกเลิกได้
นายวิษณุ กล่าวว่า ในส่วนของการปฏิรูปกฎหมายนี้ ภายใต้รัฐบาลชุดปัจจุบันตั้งแต่ปี 62-65 ได้มีการคลอดกฎหมายใหม่ไปแล้ว 45 ฉบับ และมีอีก 2 ฉบับยังอยู่ในขั้นตอนของการนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธย ซึ่งจะรวมเป็น 47 ฉบับ ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญพอจะเป็นตัวอย่างที่ทำให้ประเทศไทยเป็น Better Thailand ได้
สำหรับกฎหมายที่ได้มีการปรับปรุงเพื่อให้เกิดความง่าย และสะดวกรวดเร็ว เช่น พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวก, พ.ร.ก.ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์, ร่าง พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ และร่าง พ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม
ส่วนกฎหมายที่ช่วยให้เกิดความเป็นธรรม และลดโกง เช่น พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม, ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย, ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา
ขณะเดียวกัน ยังมีกฎหมายที่ช่วยเพิ่มอำนาจให้แก่ประชาชน เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล, พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น, พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย, พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
นายวิษณุ กล่าวว่า ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่รัฐบาลพยายามจะทำให้กฎหมายดีขึ้น ระบบราชการดีขึ้น และการทุจริตคอร์รัปชั่นลดน้อยลง แต่การดำเนินงานอาจยังทำได้ไม่เต็มที่ ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากประชาชนอีกมาก เพื่อให้เกิดผลในการเป็น Better Thailand โดยสิ่งที่รัฐบาลต้องการเห็น คือ “4 ขึ้น 1 ลง” ประกอบด้วย มีความเป็นธรรมขึ้น (Fairer), มีความรวดเร็วขึ้น (Faster), มีความง่ายขึ้น (Easier) และเข้าท่าขึ้น (Smarter)ในขณะที่ต้นทุนของรัฐและประชาชน ต้องถูกลง (Cheaper) ซึ่งทั้งหมดนี้มีบางส่วนเกิดขึ้นแล้ว แต่บางส่วนต้องเกิดขึ้นมากกว่านี้ เพื่อที่จะทำให้ประเทศไทยดีขึ้นหรือเป็น Better Thailand
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 พ.ค. 65)
Tags: คอรัปชั่น, ระบบราชการ, วิษณุ เครืองาม