นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวในงาน “ถามมา…ตอบไป เพื่อประเทศที่ดีกว่า” ในช่วงเสวนา หัวข้อ “เศรษฐกิจไทยยุคใหม่ ประเทศไทยก้าวต่อไปอย่างไร” ว่า ได้ตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ในอาเซียน โดยในด้านระบบการขนส่งใน กทม. รัฐบาลได้วางแผนพัฒนารถไฟฟ้าขนส่งมวลชนรวม 14 สี 27 เส้นทาง ระยะทางรวม 554 กิโลเมตร คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ทุกเส้นทางในปี 72 ขณะนี้ก่อสร้างเสร็จแล้ว 11 เส้นทาง ระยะทาง 212 กิโลเมตร และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 4 เส้นทาง ระยะทาง 114 กิโลเมตร ประกอบด้วย สายสีชมพู (ช่วงแคราย-มีนบุรี) สายสีเหลือง (ช่วงลาดพร้าว-สำโรง) สายสีส้มตะวันออก (ช่วงมีนบุรี-ศูนย์วัฒนธรรม) และแอร์พอร์ตเรลลิ้ง ที่ขยายจากพญาไทไปดอนเมือง และในปีนี้จะเสนอต่อที่ประชุมครม. อีก 93 กิโลเมตร ในสายสีม่วง (ช่วงเตาปูน-ราชบูรณะ) สีแดงอ่อน (ช่วงบางซื่อ-ศิริราช) สีแดงเข้ม (ช่วงบางซื่อ-รังสิต) สีส้มตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม)
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมมีแผนพัฒนารถไฟรางคู่ทั่วประเทศ ระยะทาง 3,200 กิโลเมตร โดยสร้างเสร็จแล้ว 1,111 กิโลเมตร และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 76-78 จะถือว่าเป็นการปฏิบัติระบบโลจิสติกส์ของประเทศ ทำให้ค่าขนส่งถูกลง
ส่วนการพัฒนารถไฟความเร็วสูง ซึ่งไทยพัฒนาเป็นระบบทางคู่ แต่โครงการที่จีน-ลาว ยังเป็นทางเดียวอยู่ ซึ่งได้ส่งรองปลัดกระทรวงคมนาคมนำคณะไปที่ลาว เพื่อไปเก็บข้อมูลการเดินรถไฟทั้งหมด และนำมาต่อยอดกับระบบรถไฟในประเทศไทย และหลังจากนั้นจะเชิญนายกรัฐมนตรีให้นำคณะเอกชนไปดูโครงการรถไฟความเร็วสูงที่ลาว เพื่อให้ได้เกิดการพัฒนาร่วมกัน โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2572 ส่วนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 68
นายศักดิ์สยาม ยังกล่าวถึงการพัฒนาระบบทางน้ำว่า โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพในการขนส่ง จาก 9 ล้านบีทียู เป็น 18 ล้านบีทียู และโครงการพัฒนาแลนด์บริด เชื่อมฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน (ท่าเรือชุมพร-ท่าเรือระนอง) หากก่อสร้างแล้วเสร็จ จะช่วยรองรับการเดินทาง ประหยัดเวลาและต้นทุน
สำหรับการเพิ่มศักยภาพของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ องค์การการบินระหว่างประเทศ คาดการณ์ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า (ปี 74) จะมีนักเดินทางเป็นอันดับ 9 ของโลก ไม่น้อยกว่า 200 ล้านคนต่อปี ซึ่งก่อนการแพร่ระบาดโควิดมีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณปีละ 40 ล้านคน ทางกระทรวงคมนาคมมีแผนพัฒนาทั้งขยายสุวรรณภูมิ อู่ตะเภา และดอนเมือง เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว 200 ล้านคนในอนาคตได้
รมว.คมนาคม กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลได้คลายล็อกมาตรการเดินทางเข้าประเทศ ทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้นวันละ 2 หมื่นกว่าคน แต่คาดการณ์ภายในปี 65 จะมีนักท่องเที่ยวและนักลงทุนเดินทางเข้ามาไม่ต่ำกว่า 22 ล้านคน และเชื่อว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจในประเทศดีขึ้น
สำหรับการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ได้เริ่มปรับปรุงเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยาแบบอีวีแล้ว และมีแผนขยายไปตามคลองที่สำคัญในเขตกทม. ส่วนรถโดยสารสาธารณะมีแผนเปลี่ยนรถโดยสารไฟฟ้า โดยมีแผนอีก 2,511 คัน ซึ่งจะไม่มีการเพิ่มค่าโดยสาร และจะมีการพัฒนาตั๋วร่วม
ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐนั้นอยากให้สอบถามความต้องการจากภาคเอกชนก่อนน่าจะเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งตนเชื่อว่าภาคเอกชนพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการพัฒนาประเทศ
นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ช ทวี (CHO) ในนามบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง กล่าวว่า การดำเนินโครงการขอนแก่นโมเดลนั้น เนื่องจากภาคเอกชนในจังหวัดขอนแก่นเห็นว่าโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลได้ดำเนินการไว้เป็นเหมือนเส้นเลือดใหญ่ ดังนั้นภาคเอกชนควรร่วมมือสานต่อเส้นเลือดฝอย ทำให้การเดินทางครบวงจร โดยนำแผนงานของสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มาดำเนินการ
นอกจากนี้ กำลังจะมีอีก 22 เมืองที่อยากดำเนินการตามขอนแก่นโมเดล คาดว่าจะสามารถเพิ่มมาร์เก็ตแคปได้ราว 1 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่ามีมูลค่าไม่น้อยในสถานการณ์เช่นนี้ ดังนั้นอยากให้รัฐบาลช่วยผลักดันขอนแก่นโมเดลให้คืบหน้าต่อไป และกระจายแนวคิดนี้ออกไปให้เมืองอื่นๆ นำไปใช้
“ในการพัฒนาประเทศนั้น ประเทศไทยไม่ควรจะเป็นผู้ตามอีกต่อไปแล้ว เราต้องหาทางรัดเพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็ว เราสามารถทำได้เพียงแต่ที่ผ่านมายังไม่มีคนกล้าทำ”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 พ.ค. 65)
Tags: กระทรวงคมนาคม, ระบบขนส่ง, ศักดิ์สยาม ชิดชอบ, โลจิสติกส์