นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวเสวนาในหัวข้อ “เศรษฐกิจไทยยุคใหม่ ประเทศไทยก้าวต่อไปอย่างไร” งาน “ถามมา…ตอบไป เพื่อประเทศที่ดีกว่า” (Better Thailand open Dialogue) ว่า แม้วิกฤตโควิด-19 และสถานการณ์สู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครนจะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม แต่ก็มีบางอุตสาหกรรมที่เติบโตได้ดี เช่น อุตสาหกรรมอาหาร เนื่องจากตลาดต่างประเทศยังมีความต้องการเรื่องอาหารการกินอย่างต่อเนื่อง และการพัฒนาอุตสาหกรรมในระยะต่อไปยังต้องคำนึงถึงผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า เช่น เรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ, คาร์บอนเครดิต
ขณะเดียวกันกำลังเร่งส่งเสริมกลุ่ม S-Curve ใน 12 สาขา และการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) ตามนโยบายของรัฐบาล
ประธาน ส.อ.ท. ระบุว่า ผู้ประกอบการทุกอุตสาหกรรมที่มีอยู่เดิมทั้ง 45 กลุ่ม 11 คลัสเตอร์ ซึ่งส่วนใหญ่ 80% เป็น SMEs กำลังปรับตัวทุกรูปแบบจาก 2.5 ไปสู่ 4.0 เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยี, สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน, ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน ที่ต้องพึ่งพาการนำเข้ามากถึง 30%
“ผู้ประกอบการได้คุยกันแล้วเห็นตรงกันว่าหมดยุคที่จะซื้อของถูกแล้วเอามาขายแพงได้มาร์จิ้นเยอะๆ แม้ของจะแพงแต่ต้องมีความมั่นคง เราเตรียมตั้ง Supply Chain Secrurity ในพื้นที่อีอีซี” นายเกรียงไกร กล่าว
ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรม 3 สาขาที่ควรเร่งให้การส่งเสริมเนื่องจากสร้างรายได้เข้าประเทศเกิน 50% ของจีดีพี ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะในส่วนของแบตเตอรี่, อุตสาหกรรมสมาร์ทอิเลคทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
ที่ผ่านมารัฐบาลเตรียมมาตรการที่จะจูงใจคนต่างชาติที่มีศักยภาพให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักร โดยการให้วีซ่าอยู่ยาว 10 ปี ซึ่งคนกลุ่มนี้มีกำลังซื้อสูง และเร็วๆ นี้จะมีข่าวดีเกี่ยวกับต่างชาติเลือกที่จะเข้ามาลงทุนตั้งบริษัทให้บริการด้านข้อมูล (ดาต้าเซ็นเตอร์) ในไทย เพราะมีเงื่อนไขสำคัญคือต้องใช้พลังงานสะอาด ซึ่งในประเทศเพื่อนบ้านยังไม่มี
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 พ.ค. 65)
Tags: ชโยทิต กฤดากร, เกรียงไกร เธียรนุกุล, เศรษฐกิจไทย