นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในช่วงไตรมาส 1/65 ยังคงต้องเผชิญกับทั้งปัจจัยลบที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งมีผลต่อค่าครองชีพ และเพิ่มอัตราเงินเฟ้อ ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการซื้อ หรือลงทุนในอสังหาริมทรัพย์
โดยในด้านอุปทานพบการเปลี่ยนแปลงในส่วนของการออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ในไตรมาส 1/65 มีจำนวน 6,982 หน่วย ลดลง 16.1% จากช่วงเดียวกันของปี 64 ซึ่งมีจำนวน 8,323 หน่วย ขณะที่มีจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนจำนวน 17,543 หน่วย ลดลง 27.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 64 ซึ่งมีจำนวน 24,070 หน่วย โดยในไตรมาส 1/65 มีการจดทะเบียนโครงการบ้านจัดสรรจำนวน 10,011 หน่วย และอาคารชุด 7,532 หน่วย
ด้านอุปทานโครงการที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ในไตรมาส 1/65 มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญโดยพบว่ามีจำนวนโครงการที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ รวมทั้งสิ้น 31,477 หน่วย เพิ่มขึ้น 227.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 64 ซึ่งมีจำนวน 9,611 หน่วย ประกอบด้วยโครงการอาคารชุดจำนวน 20,536 หน่วย เพิ่มขึ้น 421.2% และโครงการบ้านจัดสรร 10,941 หน่วย เพิ่มขึ้น 92.9% คิดเป็นมูลค่า 117,384 ล้านบาท ส่วนมูลค่าเพิ่มขึ้น 161.7% เป็นมูลค่าโครงการบ้านจัดสรร 60,360 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 126.6% และโครงการอาคารชุด 57,023 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 213%
อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาโดยภาพรวม พบว่า หน่วยเหลือขายในช่วงไตรมาส 1/65 เพิ่มขึ้นจากยอดสะสมปี 64 เล็กน้อย โดย ณ สิ้นปี 64 มีหน่วยเหลือขายทั้งสิ้น 164,951 หน่วย ต่อมาในไตรมาส 1/65 มีหน่วยเหลือขายสะสมทั้งสิ้น 172,244 หน่วย หรือเพิ่มขึ้นราว 4.42% คิดเป็นมูลค่าหน่วยเหลือขายไม่แตกต่างกันนัก โดยปี 64 มีมูลค่าหน่วยเหลือขาย 798,600 ล้านบาท ขณะที่ในไตรมาส 1/65 มีมูลค่าหน่วยเหลือขาย 820,781 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเพียง 2.77%
“ในปี 65 คาดการณ์อุปทานการเปิดตัวโครงการใหม่ ทั้งประเภทโครงการบ้านจัดสรรและอาคารชุด จะเพิ่มขึ้นมากกว่าปี 64 โดยอาคารชุดในสัดส่วนที่สูง เนื่องจากสต็อกที่ลดลง และราคาที่ดินที่แพงขึ้น บ้านแนวราบยังคงได้รับการตอบรับจากผู้ซื้อบ้านมาก แต่ประเภททาวเฮ้าส์จะยังคงมีอุปทานคงเหลือในตลาดมาก อาคารชุดเริ่มฟื้นตัว จากผู้ที่ต้องการซื้อเพื่อการอยู่อาศัยและการซื้อเพื่อการลงทุนมากขึ้น โครงการที่อยู่อาศัยที่เกิดขึ้นใหม่อาจปรับลดโปรโมชั่นลงบ้างเพื่อรักษาราคาประกาศขายให้อยู่ใกล้เคียงโครงการในปัจจุบัน” นายวิชัย กล่าว
ด้านสถานการณ์อุปสงค์ที่อยู่อาศัย จากข้อมูลการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในปี 64 มีจำนวน 167,464 หน่วย ขณะที่ไตรมาส 1/65 มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยจำนวน 38,954 หน่วย ลดลง 4.8% จากช่วงเดียวกันของปี 64 ประกอบด้วยโอนกรรมสิทธิ์โครงการแนวราบ 23,521 หน่วย โครงการอาคารชุด 15,433 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 133,681 ล้านบาท ในจำนวนดังกล่าวเป็นมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์โครงการแนวราบ 91,539 ล้านบาท และโครงการอาคารชุด 42,142 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าสังเกต คือ สัดส่วนหน่วย และมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์บ้านมือสองในไตรมาส 1/65 เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/64 และเป็นการเพิ่มขึ้นในทุกระดับราคา โดยระดับราคาที่มีการโอนกรรมสิทธิ์สูงสุดคือ ราคา 2.01-3 ล้านบาท รองลงมาคือระดับราคาที่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท และระดับราคา 3.01-5 ล้านบาท ตามลำดับ
นายวิชัย กล่าวว่า ในปี 65 สิ่งที่ต้องระมัดระวังที่อาจจะส่งผลกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ การแพร่ระบาดโควิด-19 ยังคงมีผลในการฉุดรั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่บ้าง แม้ว่าความรุนแรงจะลดลง ภาวะการจ้างงานและการมีรายได้ของประชาชนในภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการยังคงอยู่ในภาวะการฟื้นตัวช้า ภาวะหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับที่สูงถึงประมาณ 90% ของ GDP ทำให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางในกลุ่มอาชีพอิสระจะเข้าถึงสินเชื่อได้ยากเช่นเดียวช่วงปีที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันยังมีการเพิ่มขึ้นของหนี้เสียของสถาบันการเงิน อาจจะส่งผลให้สถาบันการเงินระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ ต้นทุนค่าก่อสร้างเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยโครงการใหม่อาจจะมีการปรับราคาขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เป็นกำลังซื้ออาคารชุดยังคงเข้ามาในประเทศน้อยจากผลกระทบโควิด-19 และสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย ทำให้ความต้องการซื้ออาคารชุดในภาพรวมฟื้นตัวช้า
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 พ.ค. 65)
Tags: คอนโดมิเนียม, ที่อยู่อาศัย, ธนาคารอาคารสงเคราะห์, วิชัย วิรัตกพันธ์, ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์, อสังหาริมทรัพย์