นายสมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) เปิดเผยว่า บริษัทลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) กับ บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด หรือ CPP ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากพืชกัญชงครบวงจร เพื่อเพิ่มมูลค่าอาหารและเครื่องดื่ม สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงต้นทาง ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาส 2/65 บริษัทเตรียมที่จะเซ็นสัญญากับผู้ประกอบการอีก 4-5 ราย ในกลุ่มเครื่องสำอาง อาหาร และยา เพื่อซื้อขายผลผลิตจากพืชกัญชง รองรับผลผลิตที่จะออกมาของบริษัท
ทั้งนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเตรียมเข้าประมูลโครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานลมทั้งหมด 7 โครงการ กำลังการผลิตราว 300 เมกะวัตต์ จากโครงการทั้งหมดที่ภาครัฐเตรียมเปิดประมูล 1,800 เมกะวัตต์ ในระยะเวลา 2 ปี ต่อจากนี้ โดยบริษัทคาดว่าหลักเกณฑ์ (TOR) การเข้ายื่นประมูลจะออกมาในช่วง ส.ค. ก่อนที่จะรู้ผลการประมูลในช่วงปลายปี 65
“หลังจากที่โครงการต่างๆมีการชะลอออกไปจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าลดลง แต่อย่างไรก็ตามเมื่อโควิดคลี่คลายแล้ว หนุนให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้ากลับมาฟื้นตัว และขยายตัวขึ้นค่อนข้างมาก จึงจะเป็นส่วนเร่งให้ภาครัฐกลับมาสนับสนุลการลงทุนด้านไฟฟ้าอีกครั้ง”
นายสมบูรณ์ กล่าว
สำหรับทิศทางแนวโน้มธุรกิจในไตรมาส 2/65 คาดว่าจะเห็นการเติบโตที่ดี เนื่องจาก ได้รับปัจจัยบวกจากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน โดยเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ได้รับอานิสงส์จากกระแสลมที่พัดแรง ทำให้ปริมาณการผลิตไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นด้วย ประกอบกับช่วงปลายไตรมาสนี้จะมีรายได้จากกัญชงทยอยเข้ามาเพิ่มเติมอีกด้วย ดังนั้นยังคงเป้าปีนี้รายได้เพิ่มขึ้นระดับ 15-20% จากปีก่อน
ด้านนายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร CPF กล่าวว่า ในฐานะผู้นำในด้านการผลิตอาหารครบวงจร ซีพีเอฟให้ความสนใจพืชกัญชง ซึ่งมีศักยภาพเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ นำมาต่อยอดเป็นสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่มีมูลค่าสูงขึ้น รองรับความต้องการที่มีแนวโน้มเติบโตทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งความร่วมมือของ 3 องค์กรพันธมิตรในครั้งนี้ นำไปสู่การพัฒนาห่วงโซ่อุตสาหกรรมสินค้าจากพืชกัญชงตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ก้าวสู่การเป็น “ครัวของโลก” และช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับธุรกิจ รวมทั้งอุตสาหกรรมอาหารของไทยในภาพรวม
นายสุเมธ ภิญโญสนิท ประธานคณะผู้บริหาร CPP กล่าวว่า จะเป็นผู้ดำเนินการจัดหาและพัฒนาสายพันธุ์กัญชงที่มีเอกลักษณ์ และใช้ระบบการเพาะปลูกที่เหมาะสม โดยได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย อย่าง มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อวิจัยการปลูกกัญชง ตั้งแต่การพัฒนาสายพันธุ์ที่ดี วิธีการปลูก เทคนิคการดูแลที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ CPP จะส่งมอบผลผลิตจากพืชกัญชงที่ปลูกในโรงเรือน Greenhouse ตามมาตรฐานการผลิตทางการเกษตรที่ดี (Good Agriculture Practices: GAP) เพื่อให้ผลผลิตที่ได้มีความปลอดภัย และร่วมมือกับ GUNKUL แปรรูปเป็นสารสกัด CBD ที่เหมาะสมสำหรับการใช้ในอาหารและเครื่องดื่มต่อไป
ด้วยมูลค่าตลาดสินค้ากัญชงมีแนวโน้มเติบโตที่ดี โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ตลอดจนสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศของไทยที่เอื้ออำนวย ทำให้มีศักยภาพด้านการเพาะปลูกและการผลิตสูง รวมถึงเป็นศูนย์กลางในการผลิตอาหารและเครื่องดื่มคุณภาพ ปลอดภัย มาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลก
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 พ.ค. 65)
Tags: CPF, GUNKUL, กัญชง, ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ, สมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย, สุเมธ ภิญโญสนิท, หุ้นไทย