IPOInsight: PLUS ไขกุญแจความสำเร็จมุ่งสู่ผู้นำ “เครื่องดื่มมาตรฐานสากล”

บมจ.โรแยล พลัส (PLUS) ระดมทุนรองรับแผนงานใหญ่เพื่อการขยายโรงงานและลงทุนเครื่องจักร เดินหน้าขยายตลาดต่างประเทศ ปักธงเพื่อนบ้านกลุ่ม CLMV ควบคู่ขยายตลาดในประเทศไทย เพิ่มโอกาสทั้งธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มในอนาคต พร้อมกับยกระดับบริษัทสู่มาตรฐานสากล สร้างความน่าเชื่อถือ ให้เป็นที่ยอมรับของลูกค้าและคู่ค้า และยังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับบริษัท

PLUS กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนครั้งแรก (IPO) จำนวน 170 ล้านหุ้น ที่หุ้นละ 4.50 บาท โดยมีมูลค่าที่ตราไว้ (Par value) หุ้นละ 0.50 บาท เปิดให้จองซื้อในช่วงวันที่ 11-13 พ.ค. 65 และจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) หมวดธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ในวันที่ 20 พ.ค. 65 โดยมี บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น IPO ของ PLUS

*เจาะลึกธุรกิจผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มรายใหญ่ระดับสากล

นายพลแสง แซ่เบ๊ กรรมการผู้อำนวยการ และผู้ก่อตั้ง บมจ.โรแยล พลัส (PLUS) เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า บริษัทประกอบธุรกิจเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม โดยแบ่งสินค้าเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มน้ำผลไม้ ได้แก่ น้ำมะพร้าว น้ำนมมะพร้าว ภายใต้แบรนด์ Coco Royal, น้ำผลไม้ผสมเมล็ดเชีย ภายใต้แบรนด์ Coco Royal และ Mabu อีกทั้งน้ำผลไม้ผสมเม็ดแมงลัก ภายใต้แบรนด์ Nita

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเครื่องดื่มทั่วไป ได้แก่ ชานม ภายใต้แบรนด์ Mabu, เครื่องดื่มวิตามิน ภายใต้แบรนด์ C-Boom และเครื่องดื่มอื่น ๆ เช่น นมถั่วเหลือง เครื่องดื่มกาแฟผสมน้ำนมมะพร้าว ภายใต้แบรนด์ Coco Coff

*กุญแจความสำเร็จจากการคิดค้นและพัฒนาสูตร

ปัจจุบันบริษัทแบ่งสัดส่วนรายได้เป็น 2 ส่วน ได้แก่ รายได้จากการจำหน่ายสินค้าภายใต้แบรนด์ของตนเอง 10% และส่วนที่เหลือจะเป็นรายได้จากสินค้าที่รับจ้างผลิต (OEM) ซึ่งจากการเป็นผู้คิดค้นและพัฒนาสูตรทั้งหมด ทำให้รูปแบบของการ OEM ของบริษัทมีความแตกต่างจากที่อื่น หนุนให้รายได้ในส่วนนี้สูงถึง 90% นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ของ PLUS ยังมีความโดดเด่นด้วยการใช้ขวดแก้วเป็นบรรจุภัณฑ์ ทำให้สามารถคงคุณภาพของสินค้าได้เป็นอย่างดี

โดย PLUS ได้ส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มไปหลากหลายทวีปทั่วโลก มีประเทศคู่ค้าเกือบร้อยประเทศทั้ง สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ยุโรป และตะวันออกกลาง เป็นต้น และจากการมีฐานลูกค้าในหลายประเทศ ทำให้มีช่วง High Season ที่ต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น ช่วง High Season ในเอเชียจะอยู่ในเดือน มี.ค. หรืออย่างสหรัฐฯ จะอยู่ในเดือนมิ.ย. ทำให้สามารถสร้างสมดุลให้กับยอดขายได้ตลอดทั้งปี ทำให้ยอดขายของบริษัทไม่ค่อยมีความผันผวน และมีผลงานที่ดีต่อเนื่องในแต่ละไตรมาส

“รูปแบบการ OEM ของเรามีความแตกต่างจากการ OEM ของที่อื่น โดยทั่วไปแล้วการ OEM คือลูกค้าจะเอาแบรนด์และสูตรมาจ้างให้ผลิต แต่การ OEM ของเรา คือเรามีฝ่ายวิจัยและพัฒนา (R&D) ที่จะเป็นผู้คิดค้นสูตรทั้งหมด รวมถึงแพ็คเกจจิ้ง หรือฉลาก เราก็เป็นผู้ออกแบบทั้งหมดแล้วไปนำเสนอลูกค้า

นอกจากนี้ตัวสินค้าของเราเป็นขวดแก้ว ซึ่งผลิตค่อนข้างยากและสามารถเก็บคุณภาพของสินค้าได้ดีทั้งเรื่องกลิ่นและรสชาติ ทำให้สามารถเก็บรักษาได้นาน เพราะฉะนั้นลูกค้าที่อยู่ต่างประเทศ มักจะนิยมสินค้าขวดแก้ว อีกทั้งยังเป็นสินค้าที่ดูมีความพรีเมียมอีกด้วย” 

นายพลแสงกล่าว

*การบริหารต้นทุนในช่วงวิกฤติ

ปัจจุบันบริษัทมีการบริหารจัดการ SKU ของสินค้าให้เหลือราว 200 รายการ จากเดิมที่มีประมาณ 1,000 รายการ ทำให้สามารถจัดการด้านการผลิตจำนวนมาก (Mass Production) ได้ดีขึ้น รวมไปถึงมีการนำระบบ Automation เข้ามาปรับใช้ ลดปริมาณคน และเพิ่มการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลให้แม้จะเจอวิกฤตโควิด-19 และในปีนี้ที่พบเจอกับเหตุการณ์ข้อพิพาทระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลกระทบให้ค่าน้ำมัน หรือค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้น แต่บริษัทก็ยังสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างมีศักยภาพ

*ย้อนรอยผลประกอบการสู่เป้าหมายเติบโตก้าวกระโดดปี 65

ภาพรวมผลการดำเนินงานในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (ปี61-64) มีรายได้จากการขาย 786.4 ล้านบาท 891.5 ล้านบาท 1.1 พันล้านบาท และ 1 พันล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่กำไรสุทธิมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องที่ 1.3 ล้านบาท 11.7 ล้านบาท 57.2 ล้านบาท และ 85.6 ล้านบาทตามลำดับ

พร้อมตั้งเป้ายอดขายปี 65 เติบโตถึง 50% จากปีก่อน หลังแนวโน้มความต้องการสั่งซื้อสินค้ายังคงมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จากการกลับมาเปิดประเทศอีกครั้งของหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่เศรษฐกิจมีการกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว และยังได้รับอานิสงส์จากเงินบาทอ่อนค่า ช่วยทำให้การสั่งซื้อสินค้าเพิ่มมากขึ้น

*เข้า SET ระดมทุน มุ่งสู่ผู้นำอุตสาหกรรมเครื่องดื่มระดับสากล

บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ไปใช้ลงทุนในโครงการขยายโรงงานและลงทุนเครื่องจักรเพิ่มเติม โดยมีแผนลงทุนด้านแพ็คเกจจิ้งประเภทขวดพลาสติก Polyethylene Terephthalate (PET) ซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมในตลาดประเทศเพื่อนบ้านกลุ่ม CLMV และประเทศไทย ซึ่งเป็นตลาดที่ทางบริษัทต้องการขยายเข้าไป เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตและขยายฐานลูกค้าให้เพิ่มขึ้น และยังมีการลงทุนใน Solar Rooftop ที่จะเตรียมติดตั้งบนหลังคาโรงงานของบริษัทในช่วงเดือนพ.ค.นี้ ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าไฟให้บริษัทได้ประมาณ 30%

นอกจากนี้บริษัทจะนำเงินที่ได้จ่ายคืนหนี้สินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต อีกทั้งเป็นการยกระดับมาตรฐานของบริษัทเข้าสู่มาตรฐานสากล

“ปัจจุบันเรามีโรงงาน 1 แห่ง ตั้งอยู่ที่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม มีพื้นที่อยู่ประมาณ 83 ไร่ ในปัจจุบันเราใช้พื้นที่ไปไม่ถึงครึ่ง เพราะฉะนั้นยังสามารถเติบโตได้อีกเยอะ ตอนนี้เรามีกำลังผลิตอยู่ที่ 200 ล้านขวดต่อปี ในระยะสั้นสามารถเพิ่มกำลังผลิตได้อีกในอาคารเดิม ซึ่งเราจะเพิ่มไลน์การผลิต PET ได้อีก 76 ล้านขวดต่อปี

และหลังเดินหน้าเข้าตลาดหลักทรัพย์ เรามีเป้าหมายที่จะทำให้ PLUS อยู่ในระดับแนวหน้าของการส่งออกเครื่องดื่ม ซึ่งตอนนี้เราก็อยู่ลำดับต้น ๆ ของประเทศ โดยแนวทางที่เราจะก้าวไป เราจะเป็น Expert ด้านผลิตภัณฑ์มะพร้าว ส่วนเครื่องดื่มชนิดอื่น ๆ เราก็ยังคงเห็นโอกาสที่จะเข้ามาส่งเสริมให้เราเติบโตและเป็นบริษัทที่ส่งออกเครื่องดื่มที่มีศักยภาพ รวมถึงโอกาสที่จะขยายการเติบโตไปยังธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวเนื่องซึ่งบริษัทสนใจได้ในอนาคต”

นายพลแสง กล่าว

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 พ.ค. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top