นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในไตรมาส 1/65 ขยายตัว 2.2% ขยายตัวต่อเนื่องจาก 1.8% ในไตรมาส 4/64 โดยภาคเกษตรเร่งตัวขึ้น ส่วนนอกภาคเกษตรขยายตัวจากภาคบริการที่ได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการต่างๆของภาครัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งในด้านการเดินทางในประเทศและระหว่างประเทศเป็นสำคัญ
ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวลง โดยด้านการผลิตนั้น พบว่า การผลิตภาคเกษตรขยายตัว 4.1% เร่งขึ้นจากการลดลง 0.6% ในไตรมาส 4/64 จากผลผลิตพืชสำคัญที่ขยายตัว เช่น ข้าวเปลือก อ้อยโรงงาน ปาล์มน้ำมัน สับปะรด และผลผลิตประมงที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรม ขยายตัว 0.5% ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ส่วนภาคบริการ ขยายตัว 2.9% ต่อเนื่องจากที่ขยายตัว 1.7% ในไตรมาสก่อนหน้า
ด้านการใช้จ่ายนั้น พบว่า การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกบริการขยายตัวเร่งขึ้น การลงทุนภาคเอกชนกลับมาขยายตัว ขณะที่การส่งออกสินค้าชะลอตัว และการลงทุนภาครัฐปรับตัวลดลง โดยการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชน และการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาล ขยายตัว 3.9% และ 4.6% ตามลำดับ การลงทุนรวมขยายตัว 0.8% การส่งออกขยายตัว 12% และการนำเข้า ขยายตัว 6.7%
ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.53% ต่ำกว่าระดับ 1.64% ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เฉลี่ยอยู่ที่ 4.7% อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เฉลี่ยอยู่ที่ 1.4% สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 1.6 พันล้านดอลลาร์ (5.3 หมื่นล้านบาท) หรือคิดเป็น 1.2% ของ GDP ส่วนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมี.ค.65 อยู่ที่ 2.42 แสนล้านดอลลาร์ และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมี.ค. 65 มีมูลค่าทั้งสิ้น 9,951,962 ล้านบาท คิดเป็น 60.6% ของ GDP
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 พ.ค. 65)
Tags: GDP, lifestyle, มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ, สภาพัฒน์, สศช.