นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต เปิดเผยว่า เปิดประเทศเศรษฐกิจไทยกระเตื้องไตรมาสสาม คาดจีดีพีไตรมาสสามขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 3-4% เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันปีที่แล้ว (YoY) ขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสสองปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนโดยเฉพาะกิจกรรมในภาคการท่องเที่ยว และ การใช้จ่ายที่พุ่งขึ้นจากอุปสงค์ที่ชะลอช่วงก่อนหน้านี้ (Pent-up Demand) คาดการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการเร่งตัวขึ้น พร้อมกับ การขยายตัวเพิ่มขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน
แต่ค่าครองชีพ ต้นทุนการผลิตสูง และอัตราเงินเฟ้อจะเป็นปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจไทย คาดจะพุ่งสูงสุดในไตรมาสสามหลังจากนั้นราคากดดันราคาพลังงานน่าจะคลี่คลายลงจากสงครามยูเครนที่น่าจะยุติลงได้ในไตรมาสสี่ เงินเฟ้อเฉลี่ยจะอยู่ที่ 5-6% การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและเกินดุลการค้าเพิ่มขึ้นในไตรมาสสาม
บวกกับ การไหลกลับของเงินทุนระยะสั้นสู่ตลาดการเงินในภูมิภาคและไทย น่าจะทำให้ค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง ลดแรงกดดันเงินเฟ้อได้บางส่วน คาดว่า อัตราการขยายตัวของภาคส่งออกไทยเติบโตต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง
ขณะที่ส่งออกไปรัสเซียและยูเครนหดตัวมากถึง 73% และ 77.8% ในเดือนมีนาคมเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า แต่ผลกระทบทางตรงต่อเศรษฐกิจไทยจากการส่งออกยังมีอยู่อย่างจำกัด เนื่องจากไทยส่งออกไปยังรัสเซียและยูเครนเป็นสัดส่วนน้อยและไม่ได้มีสินค้าส่งออกสำคัญใดที่พึ่งพาตลาดรัสเซียและยูเครนมากเป็นพิเศษ หากไทยไม่สามารถส่งออกสินค้าไปยังรัสเซียและยูเครนได้เลยในช่วงที่เหลือของปี พ.ศ. 2565 ไม่ว่าจะเป็นเพราะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจากพิษของสงคราม มาตรการคว่ำบาตรจากนานาชาติ หรือการอ่อนค่าของสกุลเงินท้องถิ่น ก็จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทยไม่ถึง 0.5% ของทั้งหมดเท่านั้น
และมีแนวโน้มสงครามยูเครนน่าจะคลี่คลายในช่วงครึ่งปีหลัง สินค้าส่งออกไทยบางประเภทสามารถขยายส่วนแบ่งตลาดได้ จากการทดแทนสินค้าส่งออกของรัสเซียและยูเครนในตลาดโลก โดยเฉพาะในยุโรปที่สินค้าส่งออกไทยหลายประเภทมีส่วนแบ่งตลาดในยุโรปในระดับที่ดีและแข่งขันได้ เช่น สินค้าเกษตร ยางสังเคราะห์ ไม้อัด ปลาแช่แข็ง เป็นต้น
นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า แม้นระบบการเงินโดยรวมยังคงมีเสถียรภาพ แต่ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจยังมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุน หนี้สินต่อรายได้ในระดับสูง จำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนด้วยการเพิ่มศักยภาพในการหารายได้และความสามารถในการชำระหนี้ในระยะยาวของลูกหนี้ ขณะที่ระบบเศรษฐกิจการเงินโลก การปรับฐานลงของราคาสินทรัพย์คริปโตยังไม่จบ มูลค่าของตลาดคริปโตล่าสุดอยู่ที่1.51 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในจำนวนนี้เป็นมูลค่าของ Bitcoin เกือบ 600,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามด้วย Ethereum ที่ 285,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
ขณะที่ตลาดทุนของสหรัฐมีมูลค่าถึง 49 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนสมาคมอุตสาหกรรมหลักทรัพย์และตลาดการเงินระบุว่ามูลค่าคงค้างของตลาดตราสารหนี้สหรัฐอยู่ที่ 53-54 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ผลกระทบของการเทขายคริปโตเคอร์เรนซีครั้งใหญ่ปลายสัปดาห์ที่แล้วส่งผลให้มูลค่าในตลาดหายไปถึง 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 6.946 ล้านล้านบาทภายในหนึ่งวันทำการ ผลกระทบต่อระบบการเงินโลกยังมีจำกัด แม้ว่าในภาพรวมแล้วตลาดคริปโตจะค่อนข้างเล็ก แต่ธนาคารกลางสหรัฐ กระทรวงการคลัง และคณะกรรมการเสถียรภาพการเงิน (FSB) ระบุว่า Stablecoin เหรียญดิจิทัลที่ตรึงมูลค่าไว้กับมูลค่าของทรัพย์สินจริงๆ อาจเป็นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพการเงินของโลกได้
นายอนุสรณ์ กล่าวเตือนนักลงทุนอีกว่า เรากำลังขยับเข้าใกล้การสิ้นสุดของยุคฟองสบู่ของบริษัทไฮเทคสตาร์อัพแล้ว เฉพาะบริษัทที่มีคุณภาพและเป็นเทคโนโลยีที่ตอบสนองต่อตลาดความต้องการอย่างแท้จริงเท่านั้นที่จะอยู่รอดในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ต้นทุนการเงินแพงและการแข่งขันสูง ขณะที่การระดมทุนแบบเสี่ยงสูงแบบ SPACs จะประสบปัญหาและไม่เติบโตอย่างเช่น 2-3 ปีที่ผ่านมา การระดมทุนแบบ SPACs นั้นมีทั้งข้อดีข้อเสีย แต่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างมากในภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น
โดย SPACs (Special Purpose Acquisition Companies) คือบริษัทที่จดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ และระดมเงินจากนักลงทุนแล้ว แต่ไม่มีแผนธุรกิจแน่ชัด (Blank check) อาจจะเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นเพื่อลงทุนในธุรกิจอื่นโดยเฉพาะ หรือมีความตั้งใจจะควบรวมหรือเข้าซื้อกิจการอื่น ทั้งนี้ บริษัท SPAC จะมีเวลา 2 ปีในการค้นหาธุรกิจที่น่าสนใจจะตกลงดีล มิฉะนั้น บริษัทดังกล่าวจะต้องคืนทุนให้แก่นักลงทุนโดยธุรกิจที่ได้ควบรวมกิจการกับบริษัท SPAC ก็จะสามารถระดมเงินทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ได้ภายใต้ชื่อของธุรกิจนั้นเลย และได้รับความช่วยเหลือจากบริษัท SPACs ผ่านเงินทุนและทรัพยากร จะมีนักลงทุนสนใจน้อยลงจากต้นทุนทางการเงินทยอยเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ คริปโตเคอร์เรนซี่บางสกุลจะด้อยค่าลงและราคาลดลงอย่างรวดเร็วจนแทบไม่มีมูลค่าได้ภายในเวลาอันสั้น เตือนนักลงทุนให้ระมัดระวังการเก็งกำไรสินทรัพย์ทางการเงินเหล่านี้มากเป็นพิเศษ เพราะสภาวะต่างๆไม่เหมือนกับยุคดอกเบี้ยต่ำอีกแล้ว ทางด้านบริษัทที่ต้องการระดมทุนในตลาดการเงิน มีข้อดี 4 ประการสำหรับการทำ SPAC IPO ได้แก่ 1. การควบรวมกิจการเข้ากับ SPAC สามารถเกิดขึ้นได้ภายใน 5-6 เดือน เมื่อเทียบกับ 12-24 เดือนสำหรับการเสนอขายหุ้น IPO แบบดั้งเดิม 2. บริษัทที่อยากเข้าตลาดสามารถใช้ข้อความคาดการณ์ล่วงหน้า (Forward Looking Statements) เมื่อต้องการให้ SPAC สนใจ
3. สำหรับบริษัทที่มีโมเดลธุรกิจซับซ้อน ยากต่อการเข้าใจ หรือบริษัทที่นักลงทุนและนักวิเคราะห์ทั่วไปมีปัญหาในการประเมินมูลค่า แรงจูงใจในการเสนอขายหุ้น IPO จะลดลงเพราะอาจระดมเงินทุนได้ไม่มากส่วนการควบรวมกิจการกับ SPAC บริษัทสามารถขายตัวเองให้กับ SPAC ซึ่งจะสามารถเข้าใจและให้มูลค่าที่แท้จริงกับธุรกิจของบริษัทได้ดีกว่า 4. มีแนวโน้มที่บริษัทจะขายตัวเองได้ในราคาที่สูงกว่าการเสนอขายหุ้นแบบเดิม (Traditional IPO) ส่วนของนักลงทุน การลงทุนใน SPAC IPO ก็มีข้อดี คือ 1. นักลงทุนที่ลงทุนใน SPAC IPO ตั้งแต่เริ่มแรกอาจมีโอกาสเป็นเจ้าของหุ้นของบริษัทที่นักลงทุนหมายปองได้มากกว่า 2. นักลงทุนใน SPAC IPO จะมีตัวเลือกในการไถ่ถอนหุ้น (ขอเงินคืน) พร้อมดอกเบี้ย จึงนับว่ามีการประกันคืนเงิน
นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า การลงทุนและระดมทุนแบบ SPAC มีความน่าสนใจลดลงมากเพราะดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้น ความเสี่ยงของ SPAC ทั้งสำหรับนักลงทุนและบริษัทเพิ่มขึ้นในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น โดยการลงทุนในบริษัท SPAC หลังการเสนอขายหุ้น IPO อาจไม่คุ้มค่าในบางกรณี ยกเว้นเป็นบริษัทที่พื้นฐานดีและมีการเติบโตสูงต่อเนื่อง แต่หากสภาวะตลาดขณะนั้นไม่เอื้ออำนวย นักลงทุนอาจขาดทุนได้มากเช่นกัน แม้ว่าจะสามารถไถ่ถอนหุ้น SPAC ได้ แต่นักลงทุนก็จะได้รับเงินคืนเท่ากับเงินลงทุนตั้งต้นพร้อมดอกเบี้ยเท่านั้น
จึงเป็นการเสียโอกาสในการลงทุนหากเงินลงทุนนั้นถูกทิ้งไว้นาน ยิ่งในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ต้นทุนค่าเสียโอกาสก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นอีก ความเสี่ยงที่นักลงทุนอาจประเมินบริษัท SPAC ผิดพลาด เนื่องจากชื่อเสียงของผู้สนับสนุน SPAC อาจกำลังใช้ความมีชื่อเสียงนี้ในการบดบังจุดอ่อนของ SPAC เอง นอกจากนี้ในมุมของบริษัทที่ต้องการระดมทุน ค่าใช้จ่ายของการเสนอขายหุ้น SPAC อาจมีราคาแพงมากกว่าที่คิด แม้ว่าในเบื้องต้นค่าใช้จ่ายสำหรับ SPAC IPO จะถูกกว่า Traditional IPO ก็ตาม
บริษัทไทยที่มีการลงทุนใน SPAC ยังมีจำกัด หากเกิดปัญหาขึ้น ระบบสถาบันการเงินและตลาดการเงินไทยสามารถรับมือได้ เพียงแต่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากความผันผวนของราคา หากนักลงทุนสามารถจัดการบริหารความเสี่ยงได้ดี จะมีช่องว่างแห่งโอกาสเกิดขึ้นภายใต้ความเสี่ยงจากความผันผวน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 พ.ค. 65)
Tags: GDP, lifestyle, อนุสรณ์ ธรรมใจ, เงินเฟ้อ, เศรษฐกิจไทย