กยท.คาดผลผลิตยาง Q2/65 ลดลง YoY ส่วนส่งออกทั้งปีมีโอกาสเพิ่มหลังศก.โลกฟื้น

น.ส.อธิวีณ์ แดงกนิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจยาง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยผลการวิเคราะห์สถานการณ์ยางบนเวที “Talk about Rubber” ว่า ในไตรมาสที่ 2/65 คาดประเทศไทยมีผลผลิตออกสู่ตลาด 0.763 ล้านตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 14.37% โดยในเดือนพ.ค. คาดว่าจะมีผลผลิตประมาณ 0.209 ล้านตัน ส่วนเดือนมิ.ย. คาดว่าจะมีผลผลิตประมาณ 0.393 ล้านตัน

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตยางลดลงในไตรมาสนี้ เนื่องจากสภาพอากาศ และฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเดือนเม.ย. รวมทั้งผลจากพายุไซโคลน ด้านกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะมีฝนตกต่อเนื่องไปจนถึงปลายเดือนมิ.ย. ประกอบกับสถานการณ์โรคใบร่วง จึงส่งผลให้ผลผลิตยางไตรมาสนี้ออกสู่ตลาดลดลง

สำหรับผลผลิตยางในช่วงเดือนม.ค.-เม.ย. 65 ทั่วโลกมีผลผลิตยางประมาณ 4.426 ล้านตัน และมีการใช้ยางประมาณ 4.523 ล้านตัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทั่วโลกมีความต้องการใช้ยางมากกว่าผลผลิตยางที่ออกสู่ตลาด ประมาณ 97,000 ตัน

ส่วนการส่งออกยางและสต็อกยาง ในช่วงไตรมาส 1/65 ไทยส่งออกยางธรรมชาติ 1.118 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.38% สำหรับไตรมาสที่ 2/65 คาดว่าจะมีการส่งออกยาง 0.994 ล้านตัน ลดลง 6.36% ขณะที่สต็อกยางของประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดหลักผู้ซื้อยางจากไทย พบว่า ช่วงไตรมาสที่ 1/65 มีปริมาณยางในสต็อกเพิ่มขึ้นจากปลายปี 64 แต่น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนสต็อกยางเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา ก็ลดลงจากเดือนมี.ค. ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยหนุนให้การส่งออกเพิ่มขึ้น

น.ส.อธิวีณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เศรษฐกิจของประเทศผู้ใช้ยาง ทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ยังคงขยายตัว เห็นได้จากดัชนี PMI ซึ่งเป็นดัชนีชี้นำ GDP ประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ยังคงขยายตัวอยู่เหนือระดับ 50 อยู่ที่ 59.20 55.50 และ 53.50 ตามลำดับ

ในส่วนของอุตสาหกรรมยางล้อเพิ่มการผลิตสูงขึ้น อุตสาหกรรมยางล้อรถยนต์นั่งขนาดเล็กฟื้นตัวขึ้นหลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย โดยเฉพาะจีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น มียอดผลิตและความต้องการเพิ่มขึ้น 10.2% 19.3% และ 13.1% ตามลำดับ ด้านอุตสาหกรรมยางล้อรถบรรทุก มียอดผลิตและความต้องการเพิ่มสูงกว่าช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 โดยจีน อินเดีย และสหรัฐอเมริกา มีผลิตเพิ่มขึ้น 2.5% 16.9% และ 16.4% ตามลำดับ

สำหรับโอกาสที่ช่วยสนับสนุนยางพาราในไตรมาส 2/65 ได้แก่ ปริมาณการผลิตรถยนต์/ รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกในปี 64 อยู่ที่ 6.5 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 109% จากปีก่อนหน้า ซึ่งจีนมียอดขายรถยนต์ไฟฟ้ามากถึง 3.2 ล้านคัน ส่วนแบ่งตลาด 15% จากยอดขายรถยนต์ใหม่ในจีน คิดเป็นส่วนแบ่งราวครึ่งหนึ่งของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก ทำให้จีนเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตอย่างมากในปี 65 นี้ ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้าต้องใช้ยางล้อโดยเฉพาะ ดังนั้น ความต้องการใช้ยางเพื่อนำไปผลิตยางล้อจึงเพิ่มสูงขึ้นด้วย

นอกจากนี้ สถานการณ์การขนส่งทางเรือดีขึ้น ทิศทางของค่าขนส่งทางเรือปรับตัวลดลง รวมถึงภาวะขาดดุลทางอุปทานยางธรรมชาติที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีนี้ ด้านประเทศจีนก็มีการจัดระเบียบท่าเรือ ส่งผลให้การจัดระบบตู้คอนเทนเนอร์ดีขึ้นด้วย ขณะเดียวกันยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลดลง ทำให้กิจกรรมในหลายประเทศกลับมาเป็นปกติ เศรษฐกิจของหลายประเทศเริ่มฟื้นตัว

ส่วนความท้าทายของยางพาราในไตรมาส 2/65 ได้แก่ ต้นทุนการผลิตในอุตสาหกรรมยางเพิ่มสูงขึ้น เป็นผลมาจากราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน นอกจากนี้ การปรับขึ้นอัตราธนาคารกลาง (เฟด) ของประเทศสหรัฐฯ ก็สร้างความเสี่ยงต่อภาวะเงินทุนไหลออก และกดดันให้บางประเทศในเอเซียปรับนโยบายการเงิน ในขณะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่

ขณะเดียวกัน การให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของยางพารา ปัจจุบันเทรนด์ของโลกและหลายหน่วยงาน ต่างให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน กยท. จึงส่งเสริมในเรื่องการปลูกสร้างสวนยางตามองค์การจัดการด้านป่าไม้ (Forest Stewardship Council: FSC) และการนำระบบ Rubber way เข้ามาใช้สำรวจและเก็บข้อมูลของชาวสวนยาง โดยส่งเสริมให้ปลูกยางตามมาตรฐานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

น.ส.อธิวีณ์ กล่าวเสริมว่า กยท. ยังนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาพัฒนาระบบประมูลยาง เริ่มใช้กับการประมูลยางก้อนถ้วย ช่วยให้ผู้ประมูลยางสามารถเข้าประมูลยางได้สะดวกขึ้นผ่านหน้าจอมือถือ โดยสามารถทราบข้อมูลยาง เช่น การหาปริมาณเนื้อยางแห้ง (Dry Rubber content: DRC) และเห็นสภาพของยาง การจัดเก็บยาง เพื่อประกอบการตัดสินใจ ซึ่งจะได้รับยางพาราที่มีคุณภาพเหมาะสมกับราคา

ทั้งนี้ เป็นการประมูลแบบปิด ผู้ประมูลแต่ละรายจะไม่ทราบราคาประมูลของกันและกัน เพื่อความเป็นธรรม ราคาประมูลจะเป็นไปตามกลไกตลาด มีการกำหนดราคากลางเปิดตลาดร่วมกันโดย กยท. และสถาบันเกษตรกรผู้ขายยาง

ด้าน นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ยางของประเทศไทยจนถึงสิ้นปีนี้น่าจะอยู่ในระดับดี เนื่องจากคาดว่าปริมาณผลผลิตจะมากกว่าความต้องการใช้ ประกอบกับมองว่าประเทศอินโดนีเซียจะมีผลผลิตลดลงประมาณ 30% เนื่องจากปัญหาขาดแคลนแรงงานกรีดยาง ปัญหาโรคใบร่วง และมีบางส่วนเปลี่ยนไปทำปาล์มน้ำมัน เนื่องจากมีราคาดี

ขณะที่การส่งออกของประเทศไทย ยังคงมีประเทศจีนเป็นลูกค้าหลักในสัดส่วน 53-54% แม้ดัชนี PMI จะปรับตัวลดลง แต่การนำเข้ายางของจีนยังเพิ่มขึ้น เนื่องจากจีนได้ประโยชน์จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน จากการเป็นประเทศพันธมิตร ซึ่งไทยก็ได้ผลพลอยได้จากส่วนนี้ด้วย

นายณกรณ์ กล่าวถึงปัญหาการลักลอบยางเถื่อนว่า ยืนยันว่าผู้ส่งออกรายหลักของไทยไม่มีการนำเข้ายางจากต่างประเทศ ทั้งนี้ บริเวณชายแดนอาจมีการลักลอบยางจากประเทศเพื่อนบ้านบ้าง อย่างไรก็ดี ยางจากประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่เป็นยางที่ปลูกแบบไม่กำหนดกฏเกณฑ์ จึงอาจมีการจัดการที่ไม่ดี และไม่ได้มาตรฐาน The Green Book ซึ่งหากมีการนำเข้ามาก็จะไม่สามารถส่งออกได้ เนื่องจากยางมีคุณภาพต่ำ และเมื่อนำมาผสมก็อาจเกิดผลในระยะยาวได้

สำหรับตัวเลขการใช้ยางในประเทศไทย ขณะนี้ไม่ได้เพิ่มขึ้นจากเดิมมากนัก ด้านภาครัฐก็มีการสนับสนุนการใช้ยาง แต่ไม่สามารถสนับสนุนได้เต็มที่ เนื่องจากยังคงมีอุปสรรคต่างๆ เช่น มีงบประมาณที่จำกัด เป็นต้น ในส่วนของเสาหลักจราจรที่ทำจากน้ำยาง ก็เป็นหนึ่งในการสนับสนุนการใช้ยางในประเทศ โดยการนำยางมาใช้ทำเสาหลักนั้น เป็นการลดผลกระทบจากการเกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากข้างในเสาหลักทำแบบกลวงเพื่อให้มีความยืดหยุ่น

“กยท. ได้ทำการวิจัยเสายาง โดยมีสถาบันเกษตรกรเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งคุณสมบัติของเสายางก็ได้ผ่านมาตรฐานของกรมทางหลวงแล้ว ในส่วนของราคาเสายางอาจมีราคาสูงกว่าเสาปูนเล็กน้อย แต่ก็มีความคงทนที่มากกว่า”

นายณกรณ์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 พ.ค. 65)

Tags: , , , , ,
Back to Top