ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ได้พิจารณาบรรจุน้ำมันสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ ขององค์การเภสัชกรรม เป็นรายการยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร พ.ศ.2564 และได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 โดยน้ำมันสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ขององค์การเภสัชกรรม ที่ได้รับการบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร จำนวน 3 รายการ ได้แก่
- ยาน้ำมันสารสกัดกัญชาที่มี THC สูง
- ยาน้ำมันสารสกัดกัญชาที่มี CBD สูง
- ยาน้ำมันสารสกัดกัญชาที่มี CBD และ THC สัดส่วนเท่ากัน
รายการยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ เป็นยาสำหรับใช้ในโรงพยาบาล และสถานบริการสาธารณสุข โดยมีสรรพคุณและข้อบ่งใช้ตามข้อกำหนดทางการแพทย์ โดยน้ำมันสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ ขององค์การเภสัชกรรมทั้ง 3 รายการเป็นรูปแบบยาหยดใต้ลิ้น ประกอบด้วย 1.ยาน้ำมันสารสกัดกัญชาที่มี THC สูง รักษาเสริมในการรักษาภาวะคลื่นไส้ อาเจียนจากเคมีบำบัด ผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะท้ายที่มีอาการนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร หรือมีอาการปวดในระดับปานกลางจนถึงรุนแรง 2.ยาน้ำมันสารสกัดกัญชาที่มี CBD สูง ตามโครงการของกรมการแพทย์ และ 3.ยาน้ำมันสารสกัดกัญชาที่มี CBD และTHC สัดส่วนเท่ากัน รักษาเสริมในผู้ป่วยมะเร็งระยะท้ายที่นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ปวดปานกลางถึงรุนแรง
ภญ.นันทกาญจน์ กล่าวว่า ประชาชนสามารถเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ ในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพรได้ ในระบบบริการสุขภาพของรัฐ โดยรัฐเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านยา ปัจจุบันมีหน่วยบริการทางการแพทย์ที่ได้รับอนุญาตจ่ายกัญชาทางการแพทย์ที่เป็นโรงพยาบาลภาครัฐ จำนวน 893 แห่ง ทั่วประเทศ และเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการรักษา จึงควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและสั่งจ่ายยา ซึ่งแพทย์เหล่านี้ได้ผ่านการอบรมการใช้กัญชามาอย่างถูกต้อง และเลือกใช้ยาที่มีมาตรฐาน ปลอดภัย โดยเฉพาะยาที่ได้รับอนุญาตจาก อย.แล้ว และเป็นยาที่บรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร
“การบรรจุยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ป่วย และส่งเสริมให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาที่มีความจำเป็นได้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะยาที่มีราคาสูง และส่งเสริมให้ประชาชนได้หันมาใช้ยาที่ผลิตจากสมุนไพร ทดแทนการนำเข้ายาที่มีฤทธิ์ในการรักษาคล้ายกัน ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศลงได้”
ภญ.นันทกาญจน์ กล่าว
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การนำพืชกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุขที่มีการขับเคลื่อนอย่างอย่างต่อเนื่องจนขณะนี้เห็นผลเป็นรูปธรรม มีคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทยและแผนปัจจุบันให้บริการทั่วประเทศถึง 1,173 แห่ง มีการพัฒนาตำรับยาแผนไทย สารสกัดต่างๆ ซึ่ง อภ.เป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักที่ร่วมดำเนินการ มีการปลูกกัญชาตามมาตรฐานทางการแพทย์อย่างถูกกฎหมายเป็นหน่วยงานแรกของประเทศและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และได้ส่งมอบผลิตภัณฑ์น้ำมันสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ล็อตแรกให้แก่คลินิกกัญชานำร่องในทุกเขตสุขภาพ เริ่มจากระยะแรกเป็นน้ำมันสารสกัดกัญชาชนิดหยดใต้ลิ้นสูตรที่มี THC เด่น สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด ภาวะปวดประสาท และมีการพัฒนาน้ำมันสารสกัดกัญชาชนิดหยดใต้ลิ้น สูตรที่มี CBD เด่น และสูตรที่มี CBD และ THC ในสัดส่วน 1:1 ส่งให้กับคลินิกกัญชาทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ ซึ่งกรมการแพทย์ได้ศึกษาการใช้ผลิตภัณฑ์สูตร THC เด่น และสูตร 1:1 ในผู้ป่วยประคับประคองหรือผู้ป่วยระยะสุดท้ายพบว่าได้ผลดี ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“ไม่เพียงจะช่วยให้ผู้ป่วยมีทางเลือกในการรักษาสุขภาพได้มากขึ้นเท่านั้น แต่ยังจะช่วยให้ประเทศชาติมีความเข้มแข็งทางยา ลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้ายาราคาสูงจากต่างประเทศได้อีกด้วย” นายอนุทิน กล่าว
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ.ในฐานะประธานกรรมการ อภ. กล่าวว่า ได้กำกับ ติดตาม และสนับสนุนให้ อภ.วิจัยและพัฒนากัญชาทางการแพทย์มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการพัฒนาการผลิตและนำผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ทยอยออกสู่ตลาด เพื่อให้แพทย์ของคลินิกกัญชาแผนปัจจุบันโรงพยาบาลภาครัฐ 126 แห่ง และโรงพยาบาลและคลินิกเอกชน 71 แห่ง นำไปใช้กับผู้ป่วย ซึ่งตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาได้การตอบรับเป็นที่น่าพอใจ ทั้งจากแพทย์ผู้สั่งจ่ายยาและผู้ป่วยที่ใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ของ อภ.
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 พ.ค. 65)
Tags: กัญชา, นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล, สมุนไพร, องค์การเภสัชกรรม, อภ.