เงินบาทเปิด 34.63 แนวโน้มผันผวนในกรอบ 34.55-34.75 รอตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐคืนนี้

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 34.63 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนค่าจากปิดตลาดช่วงเย็นวานนี้ที่ระดับ 34.57 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับตลาดโลก เนื่องจากดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินหลัก โดยวันนี้มีปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนติดตามคือการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐ

“บาทอ่อนค่าตามทิศทางตลาดโลก เนื่องจากดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินหลัก ระหว่างวันคาดว่าจะผันผวนแต่อยู่ในกรอบ ไม่เทไปด้านใดด้านหนึ่งเพื่อรอดูตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐค่ำนี้” นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงินประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 34.55 – 34.75 บาท/ดอลลาร์

THAI BAHT FIX 3M (10 พ.ค.) อยู่ที่ระดับ 0.47421% ส่วน THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ระดับ 0.56481%

ปัจจัยสำคัญ

  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 130.31 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวานที่ระดับ 130.16 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.0534 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวานที่ระดับ 1.0554 ดอลลาร์/ยูโร
  • อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 34.568 บาท/ดอลลาร์
  • นายกฯ เผยกำลังพิจารณาต่ออายุมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 3 บาทต่อลิตร ที่จะหมดวันที่ 20 พ.ค.นี้ ส่วนจะลดแค่ไหน นานเท่าใด สั่งพลังงานศึกษาเสนอต่อ ครม.สัปดาห์หน้า ด้าน “สุพัฒนพงษ์” โยนคลังหาแนวทางลดภาษี “คลัง” ขอดูสถานการณ์ราคาน้ำมัน คาดคงต่อสั้นๆ ครั้งละ 2-3 เดือน
  • “คลัง” จับเข่าคุยสถาบันการเงินหนุนกองทุนน้ำมันกู้ 3 หมื่นล้านบาท เสริมสภาพคล่อง คาดสรุปภายใน พ.ค.นี้ “หอการค้า” เผยค่าครองชีพพุ่ง-น้ำมันแพง ฉุดดัชนีเชื่อมั่น เม.ย.ต่ำสุดรอบ 8 ด. เสนอรัฐออกคนละครึ่งเฟส 5 พยุง ศก.
  • ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2565 เห็นชอบปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย (Long-Term Resident Visa : LTR Visa) ให้มีความครอบคลุมและยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น ตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) เสนอ เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงหรือมีความรู้ ความเชี่ยวชาญให้เข้ามาพำนักหรือทำงานในไทยระยะยาว จำนวน 1 ล้านคน ใน 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ 1.กลุ่มประชาคมโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง 2.กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ 3.กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย และ 4.กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญ โดยออกเป็นร่างระเบียบและร่างประกาศรวม 3 ฉบับ
  • ส.ผู้ส่งออกข้าวห่วงหลุดเป้า 8 ล้านตัน ชี้ปัญหาขาดตู้คอนเทนเนอร์ ค่าระวางเรือพุ่ง ข้าวไทยแพง ดีดกลับอีกครั้ง บาทอ่อนชดเชย ไม่ได้มากนัก จี้รัฐโรดโชว์สะกัดคำสั่งซื้อล่วงหน้าชะงัก
  • รมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำมันปาล์มราคาแพง ว่า ตอนนี้ที่ผู้บริโภคเดือดร้อนคือราคาน้ำมันปาล์มบริโภค เป็นเพราะราคาผลปาล์มดีมากขึ้นไปถึง กก. 11-12 บาท ทำให้ต้นทุนการผลิตน้ำมันปาล์มขวดเพิ่มสูงขึ้น แต่กระทรวงพาณิชย์พยายามจับมือกับผู้ผลิตน้ำมันปาล์มขวด ในการแก้ปัญหาและกำกับราคาไม่ให้สูงเกินกว่าราคาโครงสร้าง ซึ่งความจริงต้องตกประมาณขวดละ 76.50 บาท แต่
    พยายามกำกับราคาและปรับลดลงมาเหลือ 66.50 บาท
  • สหพันธ์ธุรกิจอิสระแห่งชาติสหรัฐ (NFIB) รายงานว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดย่อมทรงตัวที่ระดับ 93.2 ในเดือนเม.ย. หลังจากปรับตัวลงติดต่อกัน 3 เดือน โดยผลสำรวจพบว่า ภาคธุรกิจยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ และการขาดแคลนแรงงาน
  • ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันอังคาร (10 พ.ค.) โดยได้แรงหนุนจากแนวโน้มการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขณะที่นักลงทุนจับตาสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อประจำเดือนเม.ย.ในวันนี้
  • นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค จะปรับตัวขึ้น 8.1% ในเดือน เม.ย. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งต่ำกว่าระดับ 8.5% ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2524
  • สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือนในวันอังคาร (10 พ.ค.) โดยตลาดถูกกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ รวมทั้งความกังวลที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
  • มูลค่าตลาดของสกุลเงินดิจิทัลทั่วโลกวูบหายไปถึง 8 แสนล้านดอลลาร์ภายในเวลาเพียง 1 เดือน ท่ามกลางความกังวลต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และการปรับลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening: QT) ซึ่งจะฉุดสภาพคล่องในตลาด
  • ข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ ของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ได้แก่จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนเม.ย. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนพ.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 พ.ค. 65)

Tags: , ,
Back to Top