ครม.ไฟเขียวนำเงินกองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพบางส่วนมาใช้ก่อนกำหนด

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม โดยมีการปรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ อาทิ การให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อน หรือนำไปเป็นหลักประกันกับสถาบันการเงินที่ทำความตกลงกับสำนักงานประกันสังคม, การปรับสิทธิประโยชน์คลอดบุตร, ทุพพลภาพ เป็นต้น

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม. ได้อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยเป็นการปรับปรุงแก้ไขสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคม กรณีชราภาพ ให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อน (ขอเลือก ขอคืน และขอกู้) ดังนี้

– กรณีให้ผู้ประกันตนที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ สามารถเลือกรับเงินบำนาญชราภาพหรือเงินบำเหน็จชราภาพ (ขอเลือก)

– กรณีให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนมาใช้ก่อนมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ (ขอคืน)

– กรณีให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนไปเป็นหลักค้ำประกันการกู้เงินกับธนาคารหรือสถาบันการเงินได้ (ขอกู้)

นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีอื่น ได้แก่

– ประโยชน์ทดแทนในกรณีทุพพลภาพเพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพจาก 50% ของค่าจ้าง เป็น 70% ของค่าจ้าง

– ประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตร เพิ่มระยะเวลาในการจ่ายเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรโดยเหมาจ่ายในอัตราครั้งละ 50% ของค่าจ้างจากเดิมเป็นระยะเวลา 90 วัน เป็นระยะเวลา 98 วัน หรือระยะเวลาตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

– ประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรโดยให้ผู้ประกันตนที่สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง และภายหลังการสิ้นสภาพเป็นผู้ประกันตน ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรต่อไปอีก 6 เดือน

– รวมทั้งแก้ไขขยายอายุขั้นสูงของผู้ประกันตนที่เป็นลูกจ้าง จากเดิม “อายุ 60 ปีบริบูรณ์ ” เป็น “อายุ 65 ปีบริบูรณ์”

 

นายธนกร กล่าวว่า การแก้ไขร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ จะทำให้ผู้ประกันตนที่เป็นผู้สูงอายุ ได้รับความคุ้มครองภายใต้ระบบสามารถเลือกเข้าถึงแหล่งเงินฉุกเฉินได้เพิ่มเติม โดยใช้เงินกรณีชราภาพที่ตนจะได้รับในอนาคตเป็นเงินทุน แต่จะทำให้ผู้ประกันตนมีหลักประกันรายได้ยามเกษียณที่ลดลง

อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกันตนนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนเอามาใช้ก่อน อาจทำให้กองทุนประกันสังคมมีความมั่นคงทางเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคมลดลง แต่จะช่วยให้กองทุนมีค่าใช้จ่ายลดลงในระยะยาว

“การแก้ไขเพิ่มเติมร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม 2533 เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน รวมทั้งเป็นการรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในประเทศไทย เพื่อให้ผู้ประกันตนที่สูงอายุได้รับความคุ้มครอง และได้รับสิทธิประโยชน์ในระบบประกันสังคม สร้างหลักประกันทางสังคมที่เพิ่มมากขึ้นกับผู้สูงอายุที่อยู่ในระบบประกันสังคมด้วย” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 พ.ค. 65)

Tags: , , , , ,
Back to Top