BAY คาดกรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ 34.15-34.75 จับตาข้อมูลเงินเฟ้อสหรัฐ

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เผยมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 34.15-34.75 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 34.39 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในกรอบ 34.01-34.53 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปีครั้งใหม่ เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยดัชนีดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับตะกร้าเงินแตะจุดสูงสุดในรอบเกือบ 20 ปี หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นกรอบเป้าหมายดอกเบี้ย Fed funds 50bp สู่ 0.75-1.0% ซึ่งถือเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 22 ปี และเฟดระบุว่าจะปรับลดขนาดงบดุลลง 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนในเดือนมิถุนายน กรกฎาคม และสิงหาคม และจะปรับลดในอัตรา 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไป เพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ

อย่างไรก็ดี การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเป็นไปอย่างผันผวนหลังประธานเฟดกล่าวว่าเฟดไม่ได้พิจารณาอย่างเป็นรูปธรรมเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 75 bp แต่ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 50bp ในการประชุมเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม ทางด้านธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) ปรับขึ้นดอกเบี้ย 25bp สู่ 1.0% ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2562 แต่การประเมินของบีโออีอย่างชัดเจนที่ว่าเศรษฐกิจอังกฤษเผชิญกับความเสี่ยงจากภาวะถดถอย กดดันเงินปอนด์ให้อ่อนค่าลง ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทยมูลค่า 2,543 ล้านบาท และ 6,971 ล้านบาท ตามลำดับ

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ฯ คาดว่า นักลงทุนจะติดตามข้อมูลเงินเฟ้อเดือนเมษายนของสหรัฐฯ และความเห็นของเจ้าหน้าที่เฟดหลายรายเพื่อประเมินทิศทางการคุมเข้มนโยบายการเงินในระยะถัดไปหลังการจ้างงานของสหรัฐฯ บ่งชี้ถึงความแข็งแกร่งแม้ค่าจ้างจะเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดเล็กน้อยแต่ผู้ร่วมตลาดยังคาดว่ามีโอกาสอยู่บ้างที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 75bp ในการประชุมเดือนมิถุนายน โดยหากเงินเฟ้อสูงเกินคาดและบอนด์ยิลด์สหรัฐฯยังพุ่งสูงขึ้น ค่าเงินดอลลาร์จะได้แรงหนุนต่อเนื่อง ในทางกลับกันหากเงินเฟ้อใกล้เคียงกับที่ตลาดคาดไว้ ดอลลาร์อาจพักฐาน ขณะเดียวกันเรามองว่าภาวะตลาดการเงินที่ตึงตัวอาจทำให้ตลาดเริ่มลดคาดการณ์เกี่ยวกับโอกาสการคุมเข้มนโยบายอย่างแข็งกร้าวของเฟดในระยะข้างหน้า

สำหรับปัจจัยในประเทศ ธปท.ระบุว่าเงินทุนเคลื่อนย้ายยังเป็นปกติหลังผลประชุมเฟด เราตั้งข้อสังเกตว่าทุนสำรองที่ลดลงถึงราว 9 พันล้านดอลลาร์ในช่วงครึ่งหลังของเดือนเมษายนสะท้อนการเข้าดูแลตลาดเพื่อลดความผันผวนและชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทในระยะนี้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 พ.ค. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top