JKN เป้ารายได้ 3 ปีแตะ 5 พันลบ.ลุยสร้างธุรกิจ Commerce ขึ้นแท่น Global

นายจักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป (JKN) เปิดเผยว่า บริษัทได้จัดโครงสร้างการดำเนินธุรกิจให้มีความชัดเจนเพื่อรองรับแผนยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจที่มุ่งสู่ผู้นำ Content Commerce ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจัดทำโมเดลการดำเนินธุรกิจเพื่อสนับสนุนกลยุทธ์องค์กร และเอาชนะความท้าทายทางธุรกิจเพื่อผลักดันการเติบโตอย่างยั่งยืน

ภายหลังปรับเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น “เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป” มีแผนกลยุทธ์มุ่งเน้นสร้างประสบการณ์การรับชมคอนเทนต์และเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม JKN ในทุกแพลตฟอร์มทั้ง Online และ Offline ภายใต้ 4 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์คอนเทนต์ กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางค์เพื่อความสวยความงาม สอดรับเทรนด์ Health & Well Being และไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคได้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย

สำหรับกลุ่มธุรกิจ Content บริษัทจะนำจุดแข็งที่เป็นผู้ถือครองลิขสิทธิ์แบบ Output Deal แบรนด์ดังระดับโลกที่มีความหลากหลายของเนื้อหา ตอบสนองความต้องการผู้ชมทั้งในและต่างประเทศผ่านทุกแพลตฟอร์ม ซึ่งเชื่อมั่นว่ายังเป็นตลาดที่มีศักยภาพการเติบโตที่ดี พร้อมคัดสรรและพัฒนาคอนเทนต์ที่โดนใจผู้ชมในแต่ละกลุ่มเป้าหมายและนำมาเผยแพร่ผ่านช่อง JKN18 โดยมีรายการใหม่ๆ ที่มีความหลากหลายเพื่อมอบสาระคู่ความบันเทิง เพื่อขยายฐานกลุ่มผู้ชมให้มากขึ้น เช่น รายการ Project Runway Thailand, รายการกีฬาประเภทมวย เป็นต้น

รวมถึงตอกย้ำจุดแข็งรายการข่าวด้านเศรษฐกิจและการลงทุน ภายใต้ลิขสิทธิ์ JKN-CNBC ที่มีฐานผู้ชมคอข่าวที่เหนียวแน่น เพื่อผลักดันช่อง JKN18 เป็นสถานีทีวีดิจิทัลที่ได้รับความนิยมของผู้ชมติด 1 ใน 10 ของประเทศ ภายใน 3 ปี และการเดินหน้าต่อยอดและเสริมสร้างศักยภาพด้านการสื่อสารการตลาดภายใต้แนวคิด “ซูเปอร์สตาร์มาร์เก็ตติ้ง” ตอกย้ำคุณภาพผลิตภัณฑ์ และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในกลุ่มธุรกิจ Commerce ในรูปแบบ D2C ที่จะคัดเลือกกลุ่มผลิตภัณฑ์ให้ตรงกลุ่มเป้าหมายที่รับชมรายการในแต่ละช่วงเวลาเพื่อสร้างประสบการณ์การซื้อสินค้าที่หลากหลาย

ขณะที่กลุ่มธุรกิจ Commerce ซึ่งถือเป็น New S Curve ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เครื่องสำอางค์และเครื่องดื่มที่ดำเนินงานภายใต้ บริษัท เจเคเอ็น เบสท์ ไลฟ์ จำกัด และ บริษัท เจเคเอ็น เอ็มเอ็นบี จำกัด บริษัทมีแผนนำสารสกัดจากกัญชงและกัญชามาใช้เป็นวัตถุดิบพัฒนาเป็นสินค้าใหม่ๆ เพื่อตอบสนองเทรนด์สุขภาพ ซึ่งปัจจุบันเป็นตลาดที่มีศักยภาพเติบโตสูง หลังจาก อย.ให้ใบอนุญาตผลิตเครื่องดื่มและอาหารเสริมที่ใช้สารสกัดจากกัญชาและกัญชงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเตรียมทยอยเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ในปีนี้รวมกันมากกว่า 50 รายการ

โดยผลิตภัณฑ์ที่จะออกมาเสริมความแข็งแกร่งด้านแบรนด์พอร์ตโฟลิโอ เช่น ผลิตภัณฑ์ C-TRIA EXTRA CBD ในกลุ่มอาหารเสริม, ผลิตภัณฑ์ยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปากแบรนด์ ANNE SMILE และผลิตภัณฑ์ Anne Soap ในกลุ่มสินอุปโภคบริโภค , เครื่องดื่มชาข้าวหอมผสมชาในกัญชงปรุงสำเร็จภายใต้แบรนด์ เจเคเอ็น เครื่องดื่มสนุมไพรแบรนด์ HEAB MAX และเครื่องดื่มน้ำกัญชงแบรนด์ TO DA MOON วางจำหน่ายผ่านช่องทาง JKN18, แพลตฟอร์ม Social Media ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่และร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศ

การปรับโครงสร้างธุรกิจและกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของบริษัทเพื่อขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ขององค์กรไปสู่เป้าหมายที่วางไว้และผลักดันการเติบโตของผลการดำเนินงานที่ตั้งเป้าภายใน 3 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 68 จะมีรายได้รวมเพิ่มเป็น 5 พันล้านบาท โดยมีสัดส่วนรายได้จากกลุ่มธุรกิจ Content 50% และ ธุรกิจ Commerce จะเพิ่มเป็น 50% โดยในปีนี้บริษัทได้ตั้งเป้ารายได้รวมไว้ที่ 2.1 พันล้านบาท เติบโตขึ้นจากปีก่อนที่มีรายได้เกือบ 1.8 พันล้านบาท ซึ่งรายได้หลักยังคงมาจากธุรกิจ Content 85% และจะมีรายได้จากธุรกิจ Commerce เข้ามาสัดส่วน 15% หรือราว 300 ล้านบาท จากการเริ่มจำหน่ายสินค้าในกลุ่ม Commerce เพิ่มเข้ามา โดยเฉพาะในส่วนของเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมกัญชง

นอกจากนี้ในกลุ่มธุรกิจ Commerce บริษัทเตรียมเข้าไปรุกในตลาดเครื่องสำอาง (Cosmetics) ซึ่งจะมีการเปิดตัวในช่วงปลายไตรมาส 3/65 และจะเริ่มจำหน่ายในไตรมาส 4/65 โดยปัจจุบันบริษัทเตรียมเจรจากับพันธมิตรต่างประเทศเพื่อร่วมกันในการดำเนินธุรกิจสินค้าเครื่องสำอางเพื่อผลักดันให้เป็นแบรนด์ระดับโลก และเป็นหนึ่งในเหตุผลที่บริษัทงดการจ่ายเงินปันผลในงวดผลประกอบการปี 64 เนื่องจากการลงทุนดังกล่าวดีลใหญ่ และจะเป็นดีลที่สร้างประโยชน์กลับมาต่อผู้ถือหุ้นของ JKN ในอนาคตอย่างมาก

ด้านเงินลงทุนในการใช้ซื้อลิขสิทธิ์ Content ในปีนี้ตั้งไว้ที่ 1 พันล้านบาท ยังคงเป็นระดับปกติที่ใช้งบเฉลี่ยปีละ 800-1,000 ล้านบาท โดยบริษัทยังเข้าซื้อลิขสิทธิ์ Content มาอย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงโควิด-19 เพราะถือว่าในช่วงตั้งแต่เกิดโควิด-19 มาจนถึงปัจจุบัน ราคาเสนอขายลิขสิทธิ์ Content เป็นราคาที่ดีและคุ้มค่า เนื่องจากตลาดในการนำเสนอขาย Content ในต่างประเทศยังคงปิด ไม่มีงานการจัดโชว์ Content จากผู้ผลิต ทำให้ไม่เห็น Content ตัวจริง ส่งผลต่อความต้องการซื้อลดลงไป เพราะคนที่ซื้อ Content ไม่กล้าตัดสินใจซื้อ เพราะไม่ได้เห็นของจริง ทำให้ซัพพลายของ Content ในตลาดขายได้ยากมากขึ้น เป็นผลให้ผู้ผลิต Content มีการหั่นราคาขายลงมากว่า 30% พร้อมให้ของแถมเพิ่มเข้ามา

ปัจจัยดังกล่าวทำให้บริษัทตัดสินใจซื้อ Content เข้ามาไว้เพื่อรองรับการกลับมาของตลาดในอนาคตหลังโควิด-19 ซึ่งในปี 66 เงินลงทุนที่จะนำไปซื้อ Content ของบริษัทจะลดลงเหลือ 300 ล้านบาท เพราะในช่วงโควิด-19 เป็นต้นมา บริษัทมีการซื้อลิขสิทธิ์ Content เข้ามารองรับค่อนข้างมากแล้ว

และคาดว่าในปี 66 ราคาเสนอขาย Content จะเห็นการปรับเพิ่มขึ้น หลังจากที่งานจัดแสดง Content ในต่างประเทศเริ่มมีการกลับเข้ามาจัด ซึ่งเป็นผลบวกต่อบริษัทด้วยในแง่ของราคาขายลิขสิทธิ์ที่จะมีราคาที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการขายลิขสิทธิ์ให้กับลูกค้าต่างชาติ ซึ่งบริษัทคาดว่าหลังจากที่ตลาดการซื้อขาย Content ในต่างประเทศกลับมาจัดอีกครั้งหนึ่ง จะช่วยให้สัดส่วนรายได้การขาย Content ให้กับลูกค้าชาวต่างชาติจะเพิ่มเป็น 50% จากปัจจุบันที่ 40%

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 พ.ค. 65)

Tags: , , ,
Back to Top