นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ แนะนำลดสัดส่วนการลงทุนหุ้นลงและถือเงินสดเพิ่มขึ้นบางส่วนเพื่อลดความเสี่ยง โดยมองตลาดหุ้นไทยจะมีความผันผวนมากขึ้นตามหุ้นโลก จากปัจจัยกดดันต่างประเทศที่เป็นลบรอบด้าน ทั้งสงครามยูเครน-รัสเซียที่ยืดเยื้อ เงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นไม่หยุด การล็อกดาวน์ในจีน และการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ล้วนสร้างความกังวลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ให้แนวรับสำคัญของดัชนีหุ้นไทยเดือนนี้อยู่ที่ 1,655 จุด และแนวรับต่อไปที่ 1,620-1,630 จุด และแนวต้านสำคัญอยู่ที่ 1,680-1,685 จุด และแนวต้านถัดไปที่ 1,695-1,700 จุดตามลำดับ
บล.ทิสโก้ ระบุว่า การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เมื่อคืนนี้ประกาศขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ซึ่งเป็นการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นแรงรอบ 20 ปี และคาดว่าในการประชุมครั้งต่อไปธนาคารกลางสหรัฐฯมีแนวโน้มจะขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% พร้อมกับการเริ่มต้นลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening : QT) ลงเดือนละ 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ขณะที่ธนาคารกลางสหภาพยุโรป (ECB) จะเริ่มส่งสัญญาณยุติมาตรการผ่อนคลายการเงินเชิงปริมาณ (QE) ในการประชุมเดือนมิถุนายนนี้ และเตรียมส่งสัญญาณเตรียมตัวขึ้นดอกเบี้ยในช่วงปลายปีนี้ ขณะที่ตลาดมองว่า การขึ้นดอกเบี้ยของ ECB จะเกิดขึ้นในเดือนกันยายน ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ย Deposit Rate จะอยู่ที่ระดับ 0% จากปัจจุบันที่อยู่ที่ -0.50%
สำหรับธนาคารอังกฤษ (BOE) เริ่มดำเนินการขึ้นดอกเบี้ยมา 3 ครั้งแล้วตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะดำเนินการเร่งขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้น เพราะฉะนั้นในปีนี้จะมีเพียงธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) และธนาคารกลางจีน (PBOC) เท่านั้นที่ยังมีแนวโน้มใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เนื่องจากยังไม่มีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อมากนัก
แนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัว ทั้งการเร่งขึ้นดอกเบี้ยและการเริ่มดึงสภาพคล่องออกจากระบบ โดยเฉพาะจากเฟดคาดจะสร้างแรงกดดันต่อตลาดหุ้นมากขึ้นในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า ขณะที่ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อและต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้น อาจกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตราทำกำไรของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องติดตามในระยะถัดไป
ในอดีตตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยทั้งหมด 11 รอบ ซึ่ง 8 ใน 11 รอบ เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ในเวลาต่อมา มีเพียง 3 รอบที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวขึ้นต่อได้ (Soft-landing) คือ ในปี พ.ศ. 2508, 2527 และ 2537
อย่างไรก็ดี บล.ทิสโก้ มองโอกาสที่เฟดจะทำ Soft-landing ได้สำเร็จในรอบนี้ค่อนข้างต่ำ เนื่องจากในปัจจุบันเงินเฟ้อสหรัฐฯ อยู่ในสูงกว่า 8% ซึ่งจะกดดันให้เฟดต้องขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่เร็ว หากใช้การส่งสัญญาณเตือน Recession จากส่วนต่างของเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Yield Curve) อายุ 10 ปี และ 2 ปี ที่ติดลบ ที่มักบ่งชี้ล่วงหน้าก่อนเข้าสู่ Recession โดยเฉลี่ย 19 เดือน และ Yield Curve ที่ติดลบไปในวันที่ 1 เม.ย. ชี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเป็นไปได้ที่จะเข้าสู่ภาวะ Recession ในช่วงเดือนพ.ย. 66″ นายอภิชาติ กล่าว
นอกจากการเกิดปรากฎการณ์ Inverted Yield Curve ของส่วนต่าง Bond Yield อายุ 10 ปี และ 2 ปี ในต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาแล้ว อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Yield) หรืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรหักด้วยอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ (Inflation Expectation) ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจนใกล้กลับมาเป็นบวกแล้ว หาก Real Yield พลิกกลับมาอยู่ในแดนบวก คาดจะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เม็ดเงินไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นเป็นต้น เพราะฉะนั้นแนวโน้มการลงทุนนับจากนี้ จะไม่ใช่การแสวงหา “ผลตอบแทน” ด้วยการยอมรับความเสี่ยงที่สูงขึ้น แต่ต้องเฟ้นหาการลงทุนในเชิง “คุณภาพและคุณค่า” มากขึ้น (Quality & Value) ที่ราคาสมเหตุสมผล มีระดับการประเมินมูลค่าที่ไม่แพง
สำหรับหุ้นที่แนะนำในเดือนนี้จะเน้นหุ้นที่คาดว่างบจะออกมาดีเป็นพื้นฐาน โดยอย่างน้อยต้องเติบโตเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และมีประเด็นบวกหนุนระยะสั้น บล.ทิสโก้ยังคงแนะนำให้ลงทุนในธีมหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการทยอยเปิดเศรษฐกิจ (Re-opening) แนะนำ BEM, CENTEL สำหรับหุ้นที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อน แนะนำ GFPT และ MEGA และหุ้นที่มีปัจจัยหนุนเฉพาะตัว เด่น คือ JMT โดยคาดว่าจะได้เข้าคำนวณในดัชนี MSCI และ SET50 และหุ้น STANLY ที่คาดว่าจะประกาศงบปีพร้อมจ่ายปันผลสูง
ดังนั้น หุ้นเด่นเดือนนี้ คือ BEM, CENTEL, GFPT, JMT, MEGA และ STANLY
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 พ.ค. 65)
Tags: การลงทุน, หุ้นไทย, อภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล