บมจ.ราชกรุ๊ป (RATCH) เปิดเผยว่า บริษัท ผลิตไฟฟ้า นวนคร จำกัด จะลงทุนขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าอีกประมาณ 30 เมกะวัตต์ และไอน้ำอีกประมาณ 5 ตันต่อชั่วโมง โดยใช้วงเงินลงทุนประมาณ 1,724 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนของเงินกู้ 70% และ ส่วนผู้ถือหุ้น 30% โครงการดังกล่าวมีแผนจะเริ่มก่อสร้างในเดือน ธ.ค.65 คาดว่าจะแล้วเสร็จและเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ได้ประมาณเดือน มิ.ย.67
ภายหลังการดำเนินการแล้วเสร็จ บริษัท ผลิตไฟฟ้า นวนคร จำกัด จะมีขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าสุทธิรวมประมาณ 215 เมกะวัตต์ และขนาดกำลังการผลิตไอน้ำรวม 45 ตันต่อชั่วโมง
สำหรับ บริษัท ผลิตไฟฟ้า นวนคร จำกัด มีผู้ถือหุ้นคือ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ RATCH ถือหุ้นทั้ง 100% , บมจ.นวนคร (NNCL) และ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ในสัดส่วน 40%, 30% และ 30% ตามลำดับ
นางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ RATCH เปิดเผยว่า บริษัทจะลงทุนเพิ่มในโรงผลิตไฟฟ้านวนคร ซึ่งเตรียมเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อจำหน่ายให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสำหรับการผลิตเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ประมาณการเงินลงทุน 1,724 ล้านบาทจะเป็นเงินทุนตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทฯ ประมาณ 200 ล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทยังคงเดินหน้าลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นธุรกิจหลักอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ สำหรับการลงทุนในประเทศไทยนอกจากโครงการพลังงานทดแทนแล้ว บริษัทมุ่งเป้าหมายที่โครงการโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (Small Power Producer: SPP) ประเภทโคเจนเนอเรชั่น ซึ่งไม่เพียงเพื่อเสริมสร้างรายได้และมูลค่ากิจการเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นการเตรียมพร้อมรองรับโอกาสการเติบโตในอนาคต ซึ่งภาคการผลิตไฟฟ้ามีแนวโน้มจะเปลี่ยนผ่านไปสู่โมเดลการผลิตเพื่อใช้เอง (Independent Power Supply: IPS) และผู้ซื้อสามารถเลือกซื้อไฟฟ้าได้ด้วยตนเอง
ปัจจุบัน บริษัทมีพอร์ตการลงทุนโรงไฟฟ้าประเภท SPP รวม 7 โครงการ หากรวมการลงทุนครั้งนี้แล้วจะส่งผลให้บริษัท รับรู้กำลังการผลิตติดตั้งตามการถือหุ้น รวม 536.97 เมกะวัตต์ โดย 481.3 เมกะวัตต์ได้เดินเครื่องจำหน่ายเชิงพาณิชย์แล้ว
โรงไฟฟ้าดังกล่าวดำเนินงานโดย ผลิตไฟฟ้า นวนคร เป็นการร่วมทุนระหว่าง RATCH, NNCL และ GPSC ปัจจุบันมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 185 เมกะวัตต์ และไอน้ำรวม 40 ตันต่อชั่วโมง ซึ่งกำลังการผลิตไฟฟ้า 90 เมกะวัตต์ จำหน่ายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ส่วนที่เหลือจำหน่ายให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร จังหวัดปทุมธานี เมื่อกำลังการผลิตส่วนขยายครั้งนี้แล้วเสร็จจะมีกำลังการผลิตที่จะจำหน่ายให้ลูกค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเป็น 125 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 45 ตันต่อชั่วโมง
นอกจากนี้ บริษัทยังได้ร่วมทุนกับกลุ่มนวนคร พัฒนาโครงการ IPS กำลังการผลิต 31.2 เมกะวัตต์ ในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมาด้วย สำหรับ โรงผลิตไฟฟ้านวนคร ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงและมีความมุ่งมั่นผลิตไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีระบบการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 14001 อีกทั้งยังได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว ระดับที่ 3: ระบบสีเขียว (Green System) กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมด้วย นอกจากนี้ยังมีความพยายามที่จะลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของหน่วยผลิตไฟฟ้า ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์การลดก๊าซเรือนกระจกของบริษัทฯ ด้วย” นางสาวชูศรี กล่าว
ในปี 64 บริษัทรับรู้รายได้จากพอร์ตการลงทุนโรงไฟฟ้า SPP เป็นจำนวน 2,938 ล้านบาท คิดเป็น 7% ของรายได้รวม โดยเป็นรายได้จากโรงไฟฟ้าราชโคเจนเนอเรชั่น โรงผลิตไฟฟ้านวนคร โรงไฟฟ้าราชบุรีเวอล์ดโคเจนเนอเรชั่น โรงไฟฟ้าเบิกไพรโคเจนเนอเรชั่น และโรงไฟฟ้าสหโคเจนชลบุรี
“บริษัทประมาณการว่ารายได้จากพอร์ตโรงไฟฟ้า SPP ในปี 65 จะเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากจะมีการรับรู้รายได้จาก 3 โครงการในปีนี้ ได้แก่ โรงไฟฟ้าสหโคเจน โรงไฟฟ้าเน็กส์ซิฟ ราช เอ็นเนอร์จี ระยอง และส่วนขยายของโรงไฟฟ้าราชโคเจนเนอเรชั่น เมื่อเร็วๆ นี้ โรงไฟฟ้าเน็กส์ซิฟ ราช เอ็นเนอร์จี ระยอง ได้เดินเครื่องจำหน่ายไฟฟ้าให้กับ กฟผ. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว” นางสาวชูศรี กล่าว
สำหรับโรงไฟฟ้าเน็กส์ซิฟ ราช เอ็นเนอร์จี ระยอง ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง กำลังผลิตติดตั้ง 98 เมกะวัตต์ เริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 เม.ย.65 โดยจำหน่ายไฟฟ้า 90 เมกะวัตต์ ให้กับ กฟผ. ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะเวลา 25 ปี โรงไฟฟ้าดังกล่าวได้ดำเนินการควบคุมคุณภาพการก่อสร้างภายใต้มาตรฐานสากล รวมทั้งยังได้เลือกใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงทั้งด้านการผลิตและการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานของธนาคารโลกในด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 พ.ค. 65)
Tags: RATCH, พลังงาน, ราชกรุ๊ป, หุ้นไทย, ไฟฟ้า