นายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 3 ในนามอิสระ กล่าวในเวทีเปิดแนวคิดผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. กับนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน หัวข้อ “กรุงเทพฯ เมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ว่า การที่จะทำงบประมาณและบริหารกทม.ให้ดี ซึ่งตนเองจะเป็นผู้ว่าที่หาเงินได้และใช้เงินเป็น และกทม.ต้องเริ่มหางาน จะรอเพียงการอุดหนุนจากรัฐบาลอย่างเดียวคงไม่พอ จากสถานการณ์โควิดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นแล้วว่า การรอเงินอุดหนุนทำให้กทม.ไม่สามารถพัฒนาไปได้อย่างที่เป็น
สำหรับเรื่องวิกฤตสาธารณสุข ตอนเป็นรองผู้ว่าฯกทม.ได้เห็นปัญหา ซึ่งแนวทางแก้ปัญหาต้องมีการกระจายอำนาจลงไปจุดต่างๆต้องมีมากขึ้นเพราะที่ผ่านมารวมศูนย์ไว้หมด ซึ่งที่จริงแล้วกทม. มีศูนย์สาธารณสุข 69 ศูนย์ กระจายอยู่ตามชุมชนใหญ่ แต่ไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร
ทั้งนี้ นโยบายของตนเอง คือ ต้องติดอาวุธ บุคลากร เทคโนโลยี ทำให้ศูนย์สาธารณสุขแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลให้ได้ และเพิ่มศูนย์บริการสาธารณสุขให้ทั่วถึง เพิ่มงบประมาณให้ยืนหยุ่นให้ได้ในภาวะวิกฤติ
นายสกลธี กล่าวว่า กทม.อาจไม่มีหน้าที่โดยตรงในการดูแลปัญหาค่าครองชีพ แต่ผู้ว่าฯกทม.สามารถช่วยได้ คือ การหาเงินให้เขา ซึ่งกทม.มีระเบียบที่สามารถจัดสรรงบประมาณส่วนกลางได้ และผู้ว่าฯกทม.ต้องเป็นนักบริหารหาแหล่งทุนมาช่วยเหลือ และต้องสร้างอาชีพ และการเพิ่มรายได้ให้คนกทม. โดยกทม.จัดพื้นที่สาธารณะให้ขายอย่างสมดุล โดยต้องไม่กระทบคนเดินเท้าและการจราจร รวมถึงช่วยผู้ค้าที่ไม่มีกำลังไปเช่าแผงในอาคารพาณิชย์ ปรับพื้นที่รกร้างเป็นพื้นที่ทำมาหากิน
ทั้งนี้ นายสกลธี ยืนยันว่า เห็นด้วยกับการใช้สิทธิในการชุมนุมอย่างเต็มที่ในแสดงออกทางการเมืองในพื้นที่สาธารณะ เพราะตนเองเคยทำมาก่อน คิดว่าหากทำภายใต้กฎหมายหรือพื้นที่ที่กำหนดไว้ แต่หากขัดต่อกฎหมายอย่างที่ตนเคยทำก็ต้องรับผลของการกระทำ
ส่วนปัญหาคนเร่ร่อน ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน ต้องบูรณาการ เจ้าหน้าที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่กทม.
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 พ.ค. 65)
Tags: สกลธี ภัททิยกุล, หาเสียง, เลือกตั้งกทม., เลือกตั้งผู้ว่ากทม