นายซูดาร์โยโน ประธานสมาคมผู้ค้าตลาดอินโดนีเซีย (APPSI) ให้การสนับสนุนประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ในการออกมาตรการห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม
“เราขอยกย่องนโยบายห้ามการส่งออกของท่านประธานาธิบดี และเห็นด้วยกับท่านประธานาธิบดีว่าความจำเป็นพื้นฐานของประชาชนถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด” นายซูดาร์โยโนกล่าว
นายซูดาร์โยโนยังกล่าวว่า ถือเป็นเรื่องที่ย้อนแย้งจากการที่อินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศที่ผลิตน้ำมันปาล์มมากที่สุดในโลก กลับต้องเผชิญปัญหาขาดแคลนน้ำมันปรุงอาหาร
ประธาน APPSI ยังเปิดเผยว่า การกักตุนสินค้าของ”มาเฟีย”ในวงการน้ำมันปรุงอาหารเป็นสาเหตุทำให้เกิดการขาดแคลนและราคาพุ่งขึ้น
“ผมคิดว่าคำสั่งของท่านประธานาธิบดีแสดงให้เราเห็นอย่างชัดเจนว่าขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มจะต้องให้ความสำคัญต่อความต้องการของประชาชนในประเทศ แทนที่จะมุ่งเน้นการส่งออกไปต่างประเทศ” นายซูดาร์โยโนกล่าว
ด้านนายมูฮัมหมัด ลุตฟี รัฐมนตรีการค้าอินโดนีเซีย กล่าวก่อนหน้านี้ว่า รัฐบาลจะทำการลงโทษบริษัทส่งออกอย่างเฉียบขาด หากพบว่าละเมิดคำสั่งห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม
“ผู้ส่งออกที่ละเมิดคำสั่งจะถูกลงโทษตามกฎระเบียบที่ระบุไว้ โดยผมจะสร้างความมั่นใจว่ารัฐบาลรวมทั้งตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำการตรวจสอบเพื่อให้มีการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลจะให้ความสำคัญอันดับแรกในขณะนี้ต่อการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำมันปรุงอาหารในประเทศ และจะทำให้ประชาชนทุกคนในอินโดนีเซียสามารถซื้อหาได้ในราคาไม่แพง” นายลุตฟีกล่าว
ทั้งนี้ อินโดนีเซียเผชิญภาวะขาดแคลนน้ำมันปรุงอาหารในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แม้ว่าอินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งภาวะขาดแคลนดังกล่าวได้ทำให้ราคาน้ำมันปรุงอาหารพุ่งขึ้นมากกว่า 70% และเป็นสาเหตุทำให้อาหารทั่วไปมีราคาแพง ซึ่งสร้างความไม่พอใจต่อประชาชน ส่งผลให้กลุ่มนักศึกษาออกมาชุมนุมในหลายเมืองเพื่อขับไล่รัฐบาล เนื่องจากมองว่าประสบความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
นายแอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต หัวหน้ารัฐมนตรีเศรษฐกิจอินโดนีเซีย แถลงว่า รัฐบาลจะบังคับใช้คำสั่งห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มจนกว่าราคาน้ำมันปรุงอาหารจะลดลงต่ำกว่าระดับ 14,000 รูเปียห์/ลิตร จากระดับ 24,000 รูเปียห์ในปัจจุบัน
นายฮาร์ตาร์โตประกาศว่า อินโดนีเซียจะขยายมาตรการระงับการส่งออกน้ำมันปาล์ม โดยจะห้ามการส่งออกผลิตภัณฑ์จากน้ำมันปาล์มทุกประเภท ซึ่งรวมทั้งน้ำมันปาล์มดิบ (CPO), น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ (RPO), น้ำมันปาล์มโอเลอิน (RBD), น้ำทิ้งจากกระบวนการผลิตน้ำมันปาล์ม (POME) และน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้ว จากเดิมที่ระงับการส่งออกเฉพาะผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มโอเลอิน ซึ่งได้จากการนำน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์มาผ่านกระบวนการฟอกสี ขจัดกลิ่น และลดกรดไขมันอิสระ
อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า มาตรการระงับการส่งออกน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซียจะไม่สามารถดำเนินไปนานกว่า 1 เดือน เนื่องจากอินโดนีเซียขาดโครงสร้างพื้นฐานในการกักเก็บน้ำมันปาล์มส่วนเกิน และอินโดนีเซียจะเผชิญกับแรงกดดันจากเสียงเรียกร้องของประเทศต่างๆ เพื่อให้อินโดนีเซียกลับมาส่งออกน้ำมันปาล์มในตลาด
ก่อนหน้านี้ อินโดนีเซียเคยประกาศระงับส่งออกน้ำมันปาล์มในเดือนม.ค. ก่อนที่จะยกเลิกประกาศดังกล่าวในเดือนมี.ค.
“ขณะนี้อินโดนีเซียได้กักเก็บสต็อกน้ำมันปาล์มอยู่แล้วราว 5 ล้านตัน ขณะที่มีความสามารถในการกักเก็บเต็มที่ 6-7 ล้านตัน ซึ่งจะเต็มความจุภายในสิ้นเดือนหน้า” ดีลเลอร์รายหนึ่งกล่าว
ด้านนายเอดดี มาร์โตโน เลขาธิการ GAPKI ซึ่งเป็นสมาคมน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย กล่าวว่า “จากการคำนวณง่ายๆ คลังกักเก็บน้ำมันปาล์มทุกแห่งจะเต็มหมดในเวลาไม่ถึง 1 เดือน หากมีการห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มทั้งหมด”
นายมาร์โตโนกล่าวว่า เมื่อไม่มีคลังกักเก็บน้ำมันปาล์ม ก็จะไม่มีการรับซื้อผลปาล์มเพื่อสกัดน้ำมันปาล์ม ซึ่งจะทำให้ผลปาล์มเกิดการเน่าเสียหาย และจะทำให้เกษตรกรลดการผลิต
นอกจากนี้ อินโดนีเซียผลิตน้ำมันปาล์มราว 4 ล้านตันทุกเดือน แต่บริโภคภายในประเทศเพียง 1.5 ล้านตัน ซึ่งจะทำให้มีน้ำมันปาล์มส่วนเกินราว 2.5 ล้านตัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 เม.ย. 65)
Tags: น้ำมันปาล์ม, ห้ามส่งออก, อินโดนีเซีย