นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากกรณีที่มีข่าวประเทศจีนพบเด็กชายอายุ 4 ขวบ ติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H3N8 เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 65 โดยพบว่า บ้านผู้ป่วยได้เลี้ยงไก่ และนกอีกา อีกทั้งมีเป็ดป่าอยู่รอบๆ บ้าน ทั้งนี้ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของจีน ได้ดำเนินการสังเกตอาการ และสุ่มตัวอย่างจากการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย แต่ไม่พบความผิดปกติใดๆ ในส่วนของประเทศไทย กรมควบคุมโรค ได้มอบหมายให้กองโรคติดต่อทั่วไป ดำเนินการตรวจสอบ และติดตามสถานการณ์แล้ว
“โรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ H3N8 เคยมีการตรวจพบเชื้อในม้า สุนัข นก และแมวน้ำ จากทั่วโลก แต่ยังไม่มีรายงานผู้ป่วย H3N8 ในมนุษย์มาก่อน ทั้งนี้ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ระบุว่า จากการประเมินเบื้องต้น เชื้อดังกล่าวมีความสามารถในการแพร่เชื้อสู่มนุษย์ และความเสี่ยงของการแพร่ระบาดในวงกว้างอยู่ในระดับต่ำ โดยผู้ป่วยเด็กที่พบในประเทศจีนครั้งนี้ นับเป็นรายแรกที่มีการแพร่ระบาดจากสัตว์มาสู่คน”
นพ.โอภาส กล่าว
สำหรับสถานการณ์โรคไข้หวัดนกในคนทั่วโลก ตั้งแต่เดือนม.ค. 46-13 ม.ค. 65 มีผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ใน 18 ประเทศ จำนวน 863 ราย เสียชีวิต 455 ราย คิดเป็น 53% ได้รับรายงานพบผู้ติดเชื้อรายสุดท้าย เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 64 จากประเทศอินเดีย
ส่วนสถานการณ์โรคไข้หวัดนกในประเทศไทย ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานผู้ติดเชื้อระหว่างปี 47-49 พบผู้ป่วย 25 ราย เสียชีวิต 17 ราย หลังจากนั้นเป็นต้นมา ไม่พบรายงานผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดนกตั้งแต่ปี 49 จนถึงปัจจุบัน และในปีนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 29 เม.ย. 65) ข้อมูลจากโปรแกรมตรวจสอบการระบาด ของกองระบาดวิทยา ไม่มีรายงานผู้ป่วยสงสัยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค และข้อมูลจากระบบสารสนเทศเพื่อการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก ปี 65 สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ ไม่มีรายงานสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติจากโรคไข้หวัดนก
นพ.โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการประเมินความเสี่ยงของโรคไข้หวัดนกในประเทศไทย อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกในประเทศได้ เนื่องจากยังคงพบการระบาดของโรคนี้ในสัตว์ของประเทศเพื่อนบ้าน และมีการเคลื่อนย้ายเข้าสู่ประเทศ จึงมีโอกาสที่จะแพร่ระบาดมาสู่สัตว์ปีก ที่มีการเลี้ยงในบริเวณพื้นที่จังหวัดชายแดนของประเทศไทย
ทั้งนี้ ขอแนะนำให้ประชาชนรับประทานเนื้อไก่และไข่ที่ปรุงสุก หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกที่มีอาการป่วย หรือตาย หากไปที่ตลาดค้าสัตว์ปีกมีชีวิต ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ รวมทั้งพื้นผิวที่สัตว์เหล่านั้นอยู่ ห้ามนำซากสัตว์ปีกที่ป่วยตายไปรับประทานหรือให้สัตว์อื่นกิน และต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หากต้องสัมผัสกับสัตว์ปีกในระยะที่มีการระบาดในพื้นที่ ให้สวมหน้ากากอนามัย สวมถุงมือ ล้างมือบ่อยๆ และทุกครั้งหลังการสัมผัสสัตว์ปีกและสารคัดหลั่งของสัตว์ปีก ด้วยน้ำสบู่
สำหรับการเดินทางระหว่างประเทศ ยังสามารถเดินทางได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องจำกัดการเดินทาง ผู้ที่จะเดินทางไปต่างประเทศ ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ปีก รวมทั้งนกในธรรมชาติ หรือหากมีอาการเป็นไข้ ไอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย และเคยสัมผัสสัตว์ปีก ให้รีบไปพบแพทย์พร้อมแจ้งประวัติสัมผัสโรค หรือแจ้งประวัติการเดินทาง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 เม.ย. 65)
Tags: กรมควบคุมโรค, โอภาส การย์กวินพงศ์, ไข้หวัดนก