ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของภาคธุรกิจการเงิน
โดย MoU ดังกล่าวจะเป็นความร่วมมือของ 4 องค์กร ในการดูแลให้นโยบาย และกรอบการกำกับดูแลด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ให้มีความสอดคล้องและมีกระบวนการในการกำกับดูแลที่สอดรับกัน รวมถึงให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดระหว่างกัน ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรในภาคการเงินและให้ความรู้แก่ผู้ใช้บริการทางการเงิน เพื่อให้การปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของภาคการเงินเป็นไปอย่างราบรื่น และเกิดผลสัมฤทธิ์ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างแท้จริง
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า การคุ้มครองสิทธิของประชาชนในเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล เป็นสิ่งที่รัฐบาลและกระทรวงดิจิทัลฯ ให้ความสำคัญควบคู่ไปกับการผลักดันเรื่องการสร้างสรรค์นวัตกรรมและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างเต็มศักยภาพ กฎหมายฉบับนี้เป็นหนึ่งในชุดกฎหมายดิจิทัลเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยให้มีความเข้มแข็ง รวมทั้งเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคมในการใช้บริการออนไลน์ในชีวิตประจำวันได้อย่างปลอดภัยและเป็นธรรม
สำหรับ พ.ร.บ.ครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มิ.ย. 2565 นี้ จะเป็นกลไกสำคัญทำให้ประชาชนสามารถรับทราบวัตถุประสงค์ของการจัดเก็บ การใช้ หรือการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลอย่างชัดแจ้ง และมีสิทธิต่างๆ ที่ชัดเจนเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลของตน ในส่วนของหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรเอกชนมีมาตรฐานการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคล ทำให้สามารถดำเนินการและทำธุรกิจเกี่ยวกับข้อมูลได้อย่างมั่นใจว่าถูกต้องตามกฎหมาย
ขณะเดียวกัน ประเทศไทยมีมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สอดคล้องหลักการสากลและได้รับการยอมรับในการทำธุรกิจการค้าจากนานาชาติ รวมทั้งสามารถสร้างสังคมที่เข้มแข็ง เนื่องจากสามารถตรวจสอบการดำเนินงานภาครัฐและภาคธุรกิจเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้มีความถูกต้องเหมาะสมได้
ด้านนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า การสร้างสมดุลระหว่างการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อสนับสนุนการพัฒนาภาคการเงินเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะในระยะต่อไปที่ ธปท. มีนโยบายที่จะปรับภูมิทัศน์ในภาคการเงินให้เปิดกว้างขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจการเงินนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาต่อยอดการให้บริการ ควบคู่ไปกับการดูแลความเสี่ยง และการมีธรรมาภิบาลของการใช้ข้อมูลที่สอดรับกับเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้ ช่วยให้การกำกับดูแลและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของภาคการเงินมีความสอดคล้องกัน ไม่ทับซ้อน ช่วยลดภาระหรือต้นทุนให้แก่ทั้งผู้ประกอบธุรกิจและประชาชน ให้สามารถนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ในการทำธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ ได้อย่างมั่นใจ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาภาคการเงินและสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างราบรื่น
น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธปท. กล่าวด้วยว่า ธปท.ได้ทำงานร่วมกับสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปีกว่าแล้ว ในการเตรียมความพร้อมของภาคการเงินในการยกระดับเรื่องการดูแลข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อให้ทั้งธนาคารพาณิชย์ทั้งของไทย และของต่างประเทศ ตลอดจนธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ และ Non Bank ที่ให้บริการด้านการชำระเงิน, บริการสินเชื่อ, บริการด้านอัตราแลกเปลี่ยน และบริษัทบริหารสินทรัพย์ มีความพร้อมที่จะดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (พ.ร.บ. PDPA) ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มิ.ย. 2565 เป็นต้นไป
“สถาบันการเงินส่วนใหญ่มีความแล้ว มีเพียงส่วนน้อยที่อาจยังไม่พร้อม เช่น Non Bank รายเล็กๆ ที่อาจจะขาดบุคลากร และเครื่องไม้เครื่องมือ แต่ ธปท.ก็ได้เข้าไปช่วย และให้คำปรึกษาแบบคู่ขนานกันไป เพื่อให้มีความพร้อมรับกับกฎหมายในเดือนมิ.ย.นี้”
น.ส.สิริธิดา กล่าว
อย่างไรก็ดี ยังมีข้อห่วงกังวลอยู่บ้างในกรณีความพร้อมของแต่ละภาคธุรกิจที่อาจมีไม่เท่ากันในการที่จะเข้าสู่การบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งการทำธุรกรรมทางการเงิน มีความจำเป็นต้องเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับอีกหลายภาคส่วน ดังนั้น ธปท.จึงได้กำชับไปยังสถาบันการเงินว่าในกรณีที่ต้องเชื่อมโยงการทำธุรกรรมกับภาคส่วนอื่น จะต้องคำนึงถึงความพร้อมของผู้เชื่อมต่อธุรกรรมด้วยว่ามีมากน้อยเพียงใด รวมถึงในแง่ความพร้อมและความเข้าใจของลูกค้าในการดูแลข้อมูลส่วนบุคคลของตัวเองเช่นกัน
น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ก.ล.ต. ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และส่งเสริมหน่วยงานในตลาดทุนมีพร้อมในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มาโดยตลอด พร้อมทั้งสนับสนุนการจัดทำแนวปฏิบัติด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของแต่ละกลุ่มธุรกิจในตลาดทุน
ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างกลไกความร่วมมือระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความชัดเจนในทางปฏิบัติ และจากการสำรวจความพร้อมของผู้ประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแล เมื่อเดือนมี.ค.65 พบว่า ผู้ประกอบธุรกิจมีความตื่นตัวในด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และได้ดำเนินการตามข้อกำหนดต่าง ๆ ไปมากกว่า 90% แล้ว โดยส่วนใหญ่มั่นใจว่าจะแล้วเสร็จก่อน พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มีผลใช้บังคับ
“ก.ล.ต. เชื่อมั่นว่าความร่วมมือของ 4 องค์กรในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในภาคการเงินและสร้างความเชื่อมั่นในการใช้งานเทคโนโลยี รวมทั้งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ”
น.ส.รื่นวดี ระบุ
ด้านนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า ธุรกิจประกันภัย เป็นธุรกิจที่มีการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อประกอบการดำเนินธุรกรรม ไม่ว่าจะเป็นการนำข้อมูลส่วนบุคคลมาใช้สนับสนุนการพิจารณารับประกันภัย การปฏิบัติตามสัญญาประกันภัย และการให้บริการลูกค้า สำนักงาน คปภ. จึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการบริหารจัดการการได้มาและการปกป้องข้อมูลของลูกค้า ทั้งข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไป และข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหวของธุรกิจประกันภัย
โดยที่ผ่านมา สำนักงาน คปภ. ได้เตรียมความพร้อมสำหรับภาคธุรกิจประกันภัยเพื่อรองรับการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล อาทิ การออกแนวปฏิบัติในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับธุรกิจประกันชีวิต ธุรกิจประกันวินาศภัยและผู้ประเมินวินาศภัย การประเมินความพร้อมในด้านองค์กรด้านการปฏิบัติตามกฎหมาย และด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัย รวมถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับภาคธุรกิจประกันภัย ซึ่งความร่วมมือตาม MoU ฉบับนี้ จะสนับสนุนการกำกับดูแลด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลด้านการเงินให้เกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 เม.ย. 65)
Tags: ก.ล.ต., คปภ., คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล, ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์, ดีอีเอส, ธปท., สคส.