RAM เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุน EKH 35 ล้านหุ้น รวม 252 ลบ.เพื่อถือหุ้น 5.45%

บมจ.โรงพยาบาลรามคำแหง (RAM) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติให้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ บมจ.เอกชัยการแพทย์ (EKH) จำนวน 35 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 7.20 บาท รวมเป็นเงิน 252 ล้านบาท ดังนั้น RAM จะเข้าถือหุ้นใน EKH สัดส่วน 5.45%

นายแพทย์อำนาจ เอื้ออารีมิตร กรรมการและผู้อำนวยการโรงพยาบาล EKH เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯครั้งที่ 2/2565 มีมติอนุมัติให้เสนอต่อที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น เพื่อพิจารณาอนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทฯ จำนวน 20,000,000 บาท จากทุนจดทะเบียนชำระแล้วเดิมจำนวน 300,000,000 บาท เป็นทุนจดทะเบียนจำนวน 320,000,000 บาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 40,000,000 หุ้น โดยจัดสรรให้บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ได้แก่ RAM จำนวน 35 ล้านหุ้น และ นายแพทย์รัชต์ชยุตม์ จีระพรประภา จำนวน 5 ล้านหุ้น

ขณะเดียวกันที่ประชุมยังมีมติอนุมัติกำหนดวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2565 เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 29 มิถุนายน 2565 กำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิเข้าร่วมประชุมในวันที่ 7 มิถุนายน 2565 (Record Date)

“การขายหุ้นให้ PP ครั้งนี้ จะทำให้บริษัทมีแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม เพื่อใช้รองรับการขยายธุรกิจโรงพยาบาลของบริษัทในอนาคต ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินและความมั่นคงให้แก่ฐานะการเงินของบริษัท อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ ส่งผลให้ผลมีการเติบโตได้ต่อเนื่องในระยะยาว การเพิ่มทุนในลักษณะแบบ PP จะช่วยลดภาระในการเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ และยังสามารถดำเนินการได้ทันทีภายหลังได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้นเรียบร้อยแล้ว”นายแพทย์อำนาจ กล่าว

ทั้งนี้ บริษัทมีเป้าหมายที่จะขยายส่วนงานด้านสุขภาพต่างๆ รวมถึงลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสามารถรองรับการเข้าใช้บริการของประชาชนได้เป็นอย่างดี โดยในไตรมาส 2/65 บริษัทเตรียมเปิดให้บริการ “โรงพยาบาลคูน” ดำเนินธุรกิจภายใต้ บจก.เอกชัย เนอร์สซิ่ง โฮม ซึ่งเป็นศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและโรงพยาบาลเฉพาะทางสำหรับผู้สูงอายุ โดยคาดว่าจะช่วยสร้างรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 70-80 ล้านบาทต่อปี และทำให้กลุ่มบริษัทฯ มีเสถียรภาพมากขึ้นจากการให้บริการที่ครบวงจร

สำหรับในปีนี้เชื่อมั่นว่าธุรกิจของบริษัทจะยังคงขยายตัวได้ เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ทำให้มีผู้ป่วยใน (IPD) ผู้ป่วยนอก (OPD) ยังคงเข้ารับการรักษาต่อเนื่อง ประกอบกับการให้บริการรักษาโรคเฉพาะทางมากขึ้น โดยผ่านศูนย์บริการทางการแพทย์ต่างๆ ทำให้มีขีดความสามารถในการรองรับการเข้ามาใช้บริการของคนไข้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อภาพรวมธุรกิจ

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 เม.ย. 65)

Tags: , , ,
Back to Top