กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) คาดว่า ทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.85-34.25 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 33.94 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในกรอบ 33.64-33.95 บาท/ดอลลาร์ เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยดัชนีดอลลาร์แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563
ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยิลด์) ของสหรัฐฯ พุ่งขึ้นต่อเนื่องหลังประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งสัญญาณว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวในปีนี้ โดยเห็นว่าการที่ตลาดคาดว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 50bp เป็นจำนวนหลายครั้งเพื่อควบคุมเงินเฟ้อถือเป็นเรื่องเหมาะสม และตลาดแรงงานอยู่ในภาวะร้อนแรงมากเกินไป ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทย 3,292 ล้านบาท แต่มียอดขายพันธบัตร 11,675 ล้านบาท ตามแรงเทขายพันธบัตรทั่วโลก
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรีคาดว่า ตลาดจะติดตามข้อมูลจีดีพีไตรมาสแรก และค่าใช้จ่ายบริโภคส่วนบุคคลเดือนมีนาคมของสหรัฐฯ ท่ามกลางการคาดการณ์ว่าเฟดอาจจะปรับขึ้นกรอบเป้าหมายดอกเบี้ยสู่ 2.75-3.00% ภายในปีนี้ จากระดับปัจจุบันที่ 0.25-0.50% อีกทั้งนักลงทุนคาดว่าเฟดจะเริ่มปรับลดขนาดงบดุล ซึ่งจะกระทบการกู้ยืมของภาคธุรกิจและครัวเรือน
ทางด้านประธานาธิบดี Macron ของฝรั่งเศสคว้าชัยชนะเลือกตั้งเป็นสมัยที่สองตามความคาดหมายของตลาด แม้ฝ่ายชาตินิยมขวาจัดจะได้รับคะแนนเสียงสูงกว่า 40% เป็นครั้งแรก ขณะที่ภาวะสงครามในยูเครนและแนวโน้มการยกระดับมาตรการคว่ำบาตรพลังงานรัสเซียจะอยู่ในความสนใจของตลาดต่อไป
นอกจากนี้ คาดว่าเงินเยนจะเคลื่อนไหวผันผวน หลังผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) วันที่ 28 เมษายน โดยการประชุมครั้งนี้ได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ หลังค่าเงินเยนร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปี จากการดำเนินนโยบายการเงินที่แตกต่างกันมากขึ้นระหว่างสหรัฐฯกับญี่ปุ่น ขณะที่กระทรวงการคลังของญี่ปุ่นและบีโอเจ มีความเห็นไม่สอดคล้องกันในประเด็นค่าเงินเยน
อย่างไรก็ดี เราประเมินว่าตลาดพันธบัตรสะท้อนทิศทางการคุมเข้มนโยบายของเฟดไปค่อนข้างเต็มเหนี่ยวแล้ว และหากราคาสินทรัพย์เสี่ยงร่วงลงอย่างรุนแรง การแข็งค่าของเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับเงินเยนอาจเริ่มจำกัดมากขึ้น
สำหรับปัจจัยในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าเงินทุนเคลื่อนย้ายยังเป็นปกติ แม้ส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐฯ กว้างขึ้น ส่วนความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space) ของไทยมีไม่มาก แต่ย้ำว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังเน้นสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อนึ่ง กรุงศรีมองว่าเงินบาทยังเผชิญแรงกดดันสู่ระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปี และอยู่ในทิศทางอ่อนค่าต่อเนื่องในไตรมาส 2 นี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 เม.ย. 65)
Tags: ค่าเงินบาท, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, เงินบาท