สหภาพยุโรป (EU) เห็นชอบในวันนี้ (23 เม.ย.) เกี่ยวกับการออกกฎหมายใหม่ ซึ่งจะบังคับให้บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ ๆ อาทิ กูเกิล และเมตา จัดการกับคอนเทนต์ที่ผิดกฎหมายในแพลตฟอร์มต่าง ๆ อย่างจริงจังมากขึ้น มิฉะนั้นจะเสี่ยงกับการถูกปรับเป็นเงินหลายพันล้านดอลลาร์
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า รัฐสภายุโรปและประเทศสมาชิก EU ได้บรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับกฎหมายการให้บริการดิจิทัล (Digital Services Act – DSA) ซึ่งเป็นกฎหมายหลักที่มีเป้าหมายเพื่อจัดการกับคอนเทนต์ที่ผิดกฎหมายและเป็นอันตราย ด้วยการสั่งให้แพลตฟอร์มดำเนินการลบคอนเทนต์เหล่านั้นออกไปอย่างรวดเร็ว
ส่วนสำคัญของกฎหมายนี้จะจำกัดวิธีที่บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านดิจิทัลทำการกำหนดเป้าหมายผู้ใช้งานสำหรับการโฆษณาออนไลน์ โดย DSA จะขัดขวางแพลตฟอร์มต่าง ๆ จากการกำหนดเป้าหมายผู้ใช้งานด้วยอัลกอริทึมโดยใช้ข้อมูลเพศ เชื้อชาติหรือศาสนา และจะห้ามไม่ให้กำหนดเป้าหมายด้านการโฆษณากับผู้ใช้งานที่เป็นเด็ก
นอกจากนี้ DSA จะห้ามการใช้กลวิธีหลอกลวงที่ออกแบบมาเพื่อผลักดันให้ผู้ใช้งานเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการบางอย่างด้วย
บริษัทเทคโนโลยีจะต้องใช้ขั้นตอนใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อกำจัดเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย เช่น คำพูดที่สร้างความเกลียดชัง การยั่วยุให้ก่อการร้าย และการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก โดยตลาดอี-คอมเมิร์ซ เช่น แอมะซอนจะต้องห้ามการขายสินค้าผิดกฎหมายภายใต้กฎใหม่ดังกล่าว
ทั้งนี้ บริษัทที่ไม่ปฏิบัติตามกฎใหม่ดังกล่าวอาจต้องเสียค่าปรับสูงถึง 6% ของรายได้ประจำปีทั่วโลก อาทิ บริษัทเมตาซึ่งเป็นบริษัทแม่ของเฟซบุ๊ก อาจถูกปรับถึง 7 พันล้านดอลลาร์เมื่ออิงจากยอดขายในปี 2564
DSA เป็นกฎหมายที่แยกจากกฎหมายตลาดดิจิทัล (Digital Markets Act – DMA) ซึ่งสถาบันต่าง ๆ ในสหภาพยุโรปได้อนุมัติเมื่อเดือนที่แล้ว ขณะที่ DMA พยายามจะควบคุมอำนาจทางการตลาดของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่นั้น DSA จะบังคับให้แพลตฟอร์มต่าง ๆ ทำการกำจัดเนื้อหาที่ผิดกฎหมายอย่างรวดเร็ว โดยกฎหมาย DSA จะกระทบบรรดาเว็บไซต์ที่ผู้ใช้งานทำการผลิตคอนเทนต์ เช่น เฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม, ทวิตเตอร์, ยูทูบ และติ๊กต็อก
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 เม.ย. 65)
Tags: EU, คอนเทนต์, สหภาพยุโรป