นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือ อีอีซี เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ว่า เชื่อว่าปลายปีนี้น่าจะเริ่มก่อสร้างได้ เช่นเดียวกับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน ก็คาดว่าจะสามารถเริ่มก่อสร้างในปลายปีนี้เช่นกัน หลังจากการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ในงานก่อสร้างรีนเวย์ 2 ในสนามบินอู่ตะเภาผ่านแล้ว ซึ่งใช้เวลาไปกว่า 2 ปี จากเดิมคาดไว้ 1 ปี
ทั้งนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับบริษัท เอเชียเอราวัน จำกัด ซึ่งเป็นผู้ดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน อยู่ระหว่างการส่งมอบพื้นที่ ซึ่งขณะนี้ล่าช้ากว่าแผนไป 3 เดือนแล้ว ซึ่งก็เข้าใจได้ว่า ที่เอกชนต้องการรับมอบพื้นที่ 100% เพราะเป็นเงื่อนไขการกู้เงินจากสถาบันการเงิน ทั้งนี้คาดว่า รฟท.จะสามารถส่งมอบพื้นที่ได้ครบได้เร็วๆนี้
ขณะที่การแก้ไขสัญญาเกี่ยวกับการเข้าบริหารแอร์พอร์ตเรลลิงก์ที่ทางเอกชนขอแก้ไขสัญญาการรับมอบสิทธิบริหารที่ต้องชำระค่าสิทธิโครงการจำนวน 10,671 ล้านบาท หลังจากเกิดสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ทำให้จำนวนผู้โดยสารลดลงมากเหลือประมาณ 10,000 คน/วัน จากเดิม 70,000 คน/วัน โดยเอกชนได้จ่ายมาแล้ว 20% หรือราว 2 พันล้านบาทมาก่อน อย่างไรก็ดี ทางเอกชนได้เข้าบริหารโดยยังไม่ได้รับรายได้บริหาร แต่จ่ายค่าดำเนินการเดือนละ 100 ล้านบาท
“โครงการนี้ดีที่ประมูลไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ถ้ามีโควิดคงไม่มีเอกชนรายใดเข้าร่วม ดีที่เราเซ็นสัญญาไปก่อน พอมีโควิดก็พยายามช่วยเหลือกัน ถึงจะหนักใจ”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 เม.ย. 65)
Tags: EIA, กพอ., คณิศ แสงสุพรรณ, รถไฟความเร็วสูง, สนามบินดอนเมือง, สนามบินสุวรรณภูมิ, สนามบินอู่ตะเภา, อีอีซี