สธ. รับมอบ โคโวแวกซ์ จากอินเดีย 2 แสนโดส เน้นกลุ่มที่ไม่เคยรับวัคซีนโควิด

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข เป็นประธานพิธีรับมอบวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท COVAVAX ที่ได้รับบริจาคจากจตุภาคีด้านความมั่นคง หรือ QUAD (Quadrilateral Security Dialogue) ประกอบด้วย ออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา

นายอนุทิน กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้รับการประสานจากกลุ่มประเทศ QUAD ผ่านกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อบริจาควัคซีนโควิด 19 ของ COVOVAX ซึ่งผลิตจากประเทศอินเดีย หรือ VACCINE FOR HUMAN MEDICINE – SINGLE VACCINE COVOVAX (SARS-COV-2 RS NANOPARTICLE VACCINE RECOMBINANT) จำนวน 2 หมื่นขวด รวม 2 แสนโดส มูลค่า 60 ล้านรูปี เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ในการเร่งรัดสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ประชาชนด้วยวัคซีน เพื่อลดผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19

ทั้งนี้ วัคซีนดังกล่าวได้จัดส่งเข้ามาถึงประเทศไทย เมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา กรมควบคุมโรคได้ดำเนินการตรวจรับวัคซีนเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์อยู่ระหว่างการตรวจรับรองรุ่นการผลิต เมื่อแล้วเสร็จจะดำเนินการกระจายและนำไปใช้ต่อไป

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ขณะนี้ยังต้องรณรงค์เร่งรัดการฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ทั้งเข็มปกติและเข็มกระตุ้น โดยผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนเข็มแรกมาก่อน สามารถเข้ารับการฉีดแบบวอล์กอินได้ ส่วนเด็กวัยเรียนอายุ 5-17 ปี ก็จะต้องเร่งรัดฉีดวัคซีนเพื่อรองรับการเปิดภาคเรียนที่ 1/2565 ซึ่งในกลุ่มอายุ 5-11 ปี จำนวน 5.1 ล้านคน เพิ่งฉีดเข็มแรกได้เพียง 49.5% และเข็มสองเพียง 4% จึงยังต้องเร่งให้มาฉีดทั้งเข็มแรกและเข็มสอง ซึ่งจะดำเนินการฉีดวัคซีนผ่านระบบสถานศึกษา ส่วนกลุ่มอายุ 12-17 ปี จำนวน 4.7 ล้านคน ฉีดเข็มแรกแล้ว 87% เข็มสอง 74.3% และเข็มสามฉีดเพียง 1.6% กรณีที่ไม่ได้มารับวัคซีนเข็มที่ 2 ตามนัด ให้รับวัคซีนผ่านระบบสถานพยาบาล ส่วนการฉีดเข็มกระตุ้นจะฉีดผ่านระบบสถานศึกษา ซึ่งในช่วงพฤษภาคมนี้มีการเตรียมวัคซีนไว้รองรับการฉีดกว่า 7 ล้านโดส

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วัคซีน COVOVAX เป็นวัคซีนชนิดโปรตีนซับยูนิต ทั่วโลกยังมีการใช้วัคซีนชนิดนี้ไม่มาก คณะกรรมการวิชาการจึงมีความเห็นให้ใช้ตามฉลาก คือ ฉีด 2 เข็มห่างกัน 3 สัปดาห์ และแนะนำให้ฉีดในกลุ่มที่ยังไม่เคยรับวัคซีนมาก่อนหรือแพ้วัคซีนชนิดอื่น ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ ส่วนการใช้เป็นเข็มกระตุ้นยังต้องรอการศึกษา

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 เม.ย. 65)

Tags: , , , , ,