นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะหัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง เป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีกำแพงอาคาร Service Hall ท่าอากาศยานดอนเมืองพังถล่ม กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหาย และประชุมหารือร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วศท.), ผู้แทนสภาสถาปนิก
เพื่อกำหนดแนวทางในการดำเนินการว่า จะมีการการตั้งคณะทำงาน 2 คณะ คือ
1.คณะทำงานตรวจสอบด้านวิศวกรรม ที่มี รศ. เอนก ศิริพานิชกร จาก วศท.เป็นประธาน
2.คณะทำงานตรวจสอบด้านสัญญาว่าดำเนินการครบถ้วนหรือไม่ มีนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง) บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท. เป็นประธาน
โดยทั้ง 2 ชุดจะเริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ 21 เม.ย.65 และคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ จะประชุมอีกครั้งในวันที่ 29 เม.ย.นี้ ซึ่งจะเห็นความชัดเจนของสาเหตุที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้กำชับให้ ทอท. ตรวจสอบอาคารสำนักงานทั้งหมดของสนามบินดอนเมือง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนที่มาใช้บริการ รวมถึงอาคารสำนักงานสนามบินอื่นๆ ของ ทอท.ให้ทำการตรวจสอบเช่นกัน เนื่องจากขณะนี้เข้าสู่ช่วงฤดูฝน และมีรายงานเรื่องการเกิดพายุฤดูร้อนหลายพื้นที่
“คณะกรรมการฯ จะตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อหาจุดบกพร่องและดำเนินการแก้ไข ไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอีก เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจการใช้บริการ”
นายพิศักดิ์ กล่าว
ขณะที่นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง) ทอท. กล่าวว่า จากการวิเคราะห์สาเหตุเบื้องต้น คาดว่า ตัวคานรับรางระบายน้ำ รับน้ำฝน และลมพัดเข้ามาปริมาณมาก เกิดการบิดตัวขึ้นสองช่วงเสา และกดทับผนังจนทำให้กำแพงพังลงมา ซึ่งอาคารนี้สร้างเสร็จช่วงเดือน มิ.ย.63 ยังไม่ได้มีการเปิดใช้ ไม่มีผู้โดยสารและเจ้าหน้าที่อยู่ด้านใน
โดยขณะนี้ได้ปิดกั้นพื้นที่เพื่อให้ วศท. ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาสำรวจความเสียหาย กำแพง คานรับน้ำฝน และตรวจโครงสร้างหลัก ว่ามีความกระทบหรือไม่ โดยทาง วสท.จะเข้ามาตรวจสอบภายใน 3 วัน
ขณะที่ผู้รับจ้างจะดำเนินการเก็บเศษวัสดุ รื้อถอนผนังที่ชำรุดและโครงหลังคาบริเวณชั้น 3 ของอาคาร Service Hall บางส่วนที่พังเสียหาย เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสำหรับผู้โดยสารและผู้ใช้บริการ ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง ในส่วนของพื้นที่ของธนาคารและคลินิกสำนักแพทย์ ชั้น 1 ได้ทำการปิดชั่วคราว โดยสามารถรับบริการทางการแพทย์ได้ที่อาคารผู้โดยสารภายในประเทศ อาคาร 2 ชั้น 1 ประตู 11
สำหรับผู้รับเหมาสามารถเข้ามาดำเนินการซ่อมแซมได้ เนื่องจากอยู่ในระยะประกัน โดยผู้รับจ้างต้องรับผิดชอบซ่อมแซมให้อาคารมีความปลอดภัย โดยได้ตั้งกรอบการดำเนินการให้คืนสภาพภายใน 1 สัปดาห์ และการก่อสร้างให้แล้วเสร็จก่อนหมดระยะรับประกัน เบื้องต้นประเมินความเสียหายที่ 20 ล้านบาท จากมูลค่าอาคารทั้งหลังอยู่ที่ประมาณ 200 ล้านบาท
ทั้งนี้ ขอให้มั่นใจว่าอาคารผู้โดยสาร 1 และ อาคาร 2 ของสนามบินดอนเมืองยังมีความแข็งแรง ส่วนที่เกิดขึ้นนั้นเป็นส่วนต่อขยายที่ต่อเติมออกมา ยืนยันว่า มีการออกแบบให้รองรับแรงลม แรงพายุอยู่แล้ว แต่เหตุที่เกิดขึ้นต้องตรวจสอบอีกครั้งว่าเกิดมาจากการออกแบบหรือการก่อสร้าง
ส่วนกรณีสัญญาที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า การประมูลและเซ็นสัญญากับผู้เสนอราคาอันดับที่ 2 อาจมีความผิดปกตินั้น นายกีรติ ยืนยันว่า โครงการดำเนินการคัดเลือกตั้งแต่ปี 2561 ตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง พ.ศ. 2560 โดย ทอท.แจ้งให้ผู้ที่เสนอคราคาต่ำที่สุด มาลงนามสัญญา แต่ผู้ที่ชนะการประมูลรายแรกไม่มาลงนาม หลังจากให้เวลา 4-5 เดือนแล้ว ยืนยันว่าไม่ได้อยู่ดีๆ เรียกรายที่ 2 มาเซ็นสัญญา แต่มีการดำเนินการตามกระบวนการ อย่างไรก็ตาม กรณีนี้มีการตั้งคณะกรรมการอีกชุด เพื่อตรวจสอบให้สิ้นข้อสงสัย
หากตรวจสอบแล้วพบว่าเกิดจากความบกพร่องของการก่อสร้าง บริษัทผู้รับเหมาจะต้องรับผิดชอบตามระเบียบกฎหมาย ซึ่ง บริษัทนี้เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีความน่าเชื่อถือ และไม่ได้รับสัญญางานกับ ทอท.เท่านั้น แต่ยังมีการทำงานในโครงการอื่นๆ อีกด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 เม.ย. 65)
Tags: กีรติ กิจมานะวัฒน์, ท่าอากาศยานดอนเมือง, พิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน, ศักดิ์สยาม ชิดชอบ, สนามบินดอนเมือง, อาคารถล่ม, อาคารสำนักงาน