SCN พุ่ง 5.19% คาดรับกำไรสุทธิ Q1/65 ทำนิวไฮรับรู้รายได้พิเศษขายหุ้น TJN

ราคาหุ้น SCN ปรับขึ้น 5.19% หรือ เพิ่มขึ้น 0.14 บาท มาที่ 2.84 บาท มูลค่าซื้อขาย 108.76 ล้านบาท เมื่อเวลา 10.52 น. จากราคาเปิด 2.76 บาท ราคาสูงสุด 2.96 บาท ราคาต่ำสุด 2.76 บาท

นายฤทธี กิจพิพิธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สแกน อินเตอร์ (SCN) เปิดเผยว่า บริษัทฯ คาดผลการดำเนินงานไตรมาส 1/65 จะทำสถิติสูงสุดใหม่ จากการเตรียมบันทึกรายได้พิเศษมูลค่า 313 ล้านบาท หลังขายหุ้นของบริษัท ก๊าซ ไทย-ญี่ปุ่น จำกัด (Thai-Japan Gas Network หรือ TJN) ผู้ดำเนินธุรกิจให้บริการพัฒนาคุณภาพและจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ รวมถึงก๊าซธรรมชาติอัดสำหรับอุตสาหกรรม (iCNG) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ SCN ให้กับ บริษัท Shizuoka Gas Company Limited หรือ SZG ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานยักษ์ใหญ่อันดับ 4 ของ ประเทศญี่ปุ่น ในสัดส่วน 49%

ขณะเดียวกันการเข้ามาถือหุ้นของ SZG ส่งผลดีต่อชื่อเสียงของบริษัทฯ ให้มีความน่าเชื่อถือ และเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ขณะที่ลูกค้ารายเดิมยังมีความต้องการใช้ก๊าซ ICNG เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีลูกค้ารายใหม่เข้ามาเพิ่มเติม อาทิ ผู้ประกอบการจากประเทศญี่ปุ่น และผู้ประกอบการจากสหภาพยุโรป เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีลูกค้าเตรียมเซ็นสัญญาเข้ามาเพิ่มเติมอีกหลายราย และมีความต้องการใช้ก๊าซ ICNG มากกว่า 2,000 ล้านบีทียู (MMBTU) จากปัจจุบันที่มีปริมาณการขายก๊าซ ICNG มากกว่า 5,000 ล้านบีทียู (MMBTU) ต่อวัน ประกอบกับราคาพลังงานยังคงทรงตัวในระดับสูงมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาพรวมของธุรกิจมีโอกาสที่จะเติบโตขึ้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับก๊าซ NGV แบบครบวงจร และใช้ในกลุ่มลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรม (iCNG) และธุรกิจพลังงานทดแทน

“หลังจากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างประเทศยูเครน และประเทศรัสเซีย เป็นแรงผลักดันให้ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เป็นแรงหนุนให้ผู้ใช้รถ ทั้งในกลุ่มรถบรรทุก ผู้ประกอบการการขนส่ง และผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ หันมาใช้ก๊าซธรรมชาติอัดแรงดันสูง NGV และ iCNG มากยิ่งขึ้น โดยในช่วงที่ผ่านมาทุกสถานีให้บริการเติมก๊าซ NGV ขยายตัวมากว่า 20% เมื่อเทียบกับจุดต่ำสุด”

นายฤทธีกล่าว

ส่วนโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มมินบูในเมียนมาร์ที่อยู่ภายใต้การบริหารของ บริษัท กรีน เอิร์ธ พาวเวอร์ ไทยแลนด์ จำกัด (GEP Thailand) SCN ถือหุ้นใน GEP Thailand ราว 40% มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากำลังการผลิตรวม 220 เมกะวัตต์ โดยเริ่มรับรู้รายได้จากการผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) จากเฟสแรก กำลังผลิตอยู่ที่ 50 เมกะวัตต์ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ด้านเฟสที่ 2 กำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์นั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้คาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จภายในเดือน ต.ค.65 ก่อนที่จะเริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ภายในไตรมาส 4/65 อย่างแน่นอน

สำหรับธุรกิจด้านกัญชง เริ่มมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 65 ที่ผ่านมา SCN มีนักลงทุนใหม่เข้ามาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัทฯที่เกี่ยวข้องกับกัญชงอย่างมหาศาล แสดงถึงความสำเร็จ และความน่าสนใจในธุรกิจกัญชงเพื่อการแพทย์เป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นกัญชงเกรดการแพทย์ มีพื้นที่ปลูก 3,000 ตารางเมตร โดยมีพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการปลูกกัญชงถือหุ้นในสัดส่วน 40% ปัจจุบันเริ่มดำเนินการปลูกล็อตแรกไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งอยู่ในช่วงของระยะเริ่มต้น และคาดว่าหากปลูกได้เต็มพื้นที่จะสามารถสร้างรายได้ 200-300 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้บริษัทฯ ยังมีการวางแผนทางการเงินที่แข็งแกร่ง โดยแผนการใช้เงินลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้านั้น จะมาจากการแปลงสภาพตามใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้นสามัญ บมจ.สแกน อินเตอร์ ครั้งที่ 1 (SCN-W1) ราว 120 ล้านบาท โดยบริษัทฯ คาดหวังว่าผู้ถือหุ้นจะใช้สิทธิแปลงสภาพตามใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญทั้งหมด โดยมีจำนวนหน่วยใบสำคัญแสดงสิทธิที่เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน 119,996,757 หน่วย โดยมีอัตราการใช้สิทธิ 1 ใบสำคัญแสดงสิทธิต่อ 1 หุ้นสามัญใหม่ ราคาใช้สิทธิ 2.50 บาทต่อหุ้น อายุใบสำคัญแสดงสิทธิ 1 ปี นับจากวันที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิ โดยวันใช้สิทธิครั้งสุดท้าย 13 ม.ค.66

พร้อมกันนี้บริษัทฯ ยังมีแผนที่จะนำเงินไปลงทุนใน บริษัท สแกน แอดวานซ์ พาวเวอร์ จำกัด (SAP) ที่ดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) สัญญาซื้อขายไฟภาคเอกชน (Private PPA) และสัญญาเช่าโซลาร์รูฟท็อปทั้งกลุ่มลูกค้ารายย่อยและลูกค้าภาคธุรกิจ เช่น กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมหรือโรงแรม เป็นต้น โดยปัจจุบันมีสัญญาซื้อขายไฟ 20 เมกะวัตต์ และมีการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ 10 เมกะวัตต์ โดยบริษัทฯ ตั้งเป้าที่จะมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและเริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) เพิ่มขึ้นเป็น 30-40 เมกะวัตต์ ในปี 66 ก่อนที่จะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมีเป้าหมายที่จะมีศักยภาพในการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเป็น 100 เมกะวัตต์

“ปัจจุบันได้เริ่มกลับมาเดินหาลูกค้าใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจเริ่มกลับมา ซึ่งยอมรับว่ากระแสตอบรับค่อนข้างดี และได้รับความสนใจจากลูกค้าใหม่ๆ เป็นอย่างมาก เนื่องจากค่าไฟฟ้าที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันและเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้การหันมาใช้ไฟฟ้ารูปแบบการประหยัดพลังงาน จึงเป็นตัวเลือกหนึ่งในการที่จะลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลงได้ค่อนข้างมาก ทำให้มองว่า SAP ที่เป็นผู้ดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) ยังมีโอกาสและศักยภาพในการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน”

นายฤทธี กล่าว

สำหรับการคาดการณ์ผลประกอบการไตรมาสใน 2/65 เชื่อว่ามีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย แม้ว่าจะมีตัวเลขผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลและประชาชนมีความเข้าใจมากขึ้น ประกอบกับอัตราการเสียชีวิตปรับตัวลดลง ขณะที่ภาครัฐบาลยังได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 มาต่อเนื่อง ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น ทั้งการเติบโตของกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ, ธุรกิจผลิตไฟฟ้า, ธุรกิจให้บริการบำรุงรถเมล์ NGV และธุรกิจใหม่ในส่วนของกัญชง เป็นปัจจัยบวกและทำให้บริษัทฯ มั่นใจในเป้าหมายรายได้ปี 65 ที่คาดจะทำได้ประมาณ 2.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% จากปีก่อนที่มีรายได้ 1.75 พันล้านบาท

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 เม.ย. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top