สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ร่วมมือกับสภาเภสัชกรรม ให้ร้านยาเป็นหน่วยบริการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีภาวะเสี่ยง โดยผู้ป่วยสามารถรับยาที่ร้าน พร้อมคำแนะนำและติดตามอาการจากเภสัชกรไปอีก 48 ชั่วโมง อย่างไรก็ดี หากอาการรุนแรงมากขึ้น จะทำการส่งต่อผู้ป่วยเข้าระบบ เพื่อให้แพทย์รับช่วงดูแลต่อตามแนวทาง เจอ แจก จบ ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)
ทั้งนี้ มีร้านยาทั่วประเทศเข้าร่วมแล้วกว่า 700 แห่ง ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการกับ สปสช. แล้ว 440 แห่ง ที่เหลืออยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียน โดยจะให้บริการผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง สิทธิข้าราชการฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย
ในส่วนของร้านยา จะรับค่าใช้จ่ายกรณีบริการทางเภสัชกรรมในการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มนี้ ตามหลักเกณฑ์ของ สปสช. ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค. 65 ที่ผ่านมา สำหรับอัตราค่าบริการจะเป็นการจ่ายแบบเหมาจ่ายในอัตรา 700 บาท/ราย ครอบคลุมบริการ ดังนี้
1. บริการให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวในการแยกกักตัวที่บ้าน
2. ค่ายาฟ้าทะลายโจรและยาพื้นฐานอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 รวมค่าบริการจ่ายยากรณีที่แพทย์สั่งจ่ายเฉพาะในการดูแลผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ที่จำเป็นต้องได้รับตามมาตรฐานที สธ. กำหนด โดยรวมค่าจัดส่งยา
3. ค่าบริการให้คำปรึกษา แนะนำการใช้ยา และติดตามอาการผู้ติดเชื้อเมื่อครบ 48 ชั่วโมงแรก
4. การจัดระบบส่งต่อเมื่อผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 มีอาการเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องส่งต่อ
นอกจากนี้ ยังมีการจ่ายเพิ่มเติมแบบเหมาจ่ายในอัตรา 150 บาท สำหรับการให้คำปรึกษาหรือการดูแลรักษาเบื้องต้น เมื่อผู้ติดเชื้อมีอาการเปลี่ยนแปลง และผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้ติดต่อกลับร้านยา เพื่อขอรับคำปรึกษาหลังให้การดูแลครบ 48 ชั่วโมงไปแล้ว
ทั้งนี้ ก่อนให้บริการจะมีการพิสูจน์ตัวตนของผู้รับบริการ เพื่อยืนยันการเข้ารับบริการ และบันทึกข้อมูลการให้บริการผ่านโปรแกรม AMED Telehealth ระบบบริการการแพทย์ทางไกล
สำหรับประชาชน สามารถตรวจสอบรายชื่อร้านยาได้ที่เว็บไซต์ สปสช. https://www.nhso.go.th/downloads/197 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 1330 ตลอด 24 ชม. หรือเพิ่มเพื่อนไลน์กับ สปสช. @nhso
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 เม.ย. 65)
Tags: lifestyle, ผู้ป่วยโควิด, ร้านยา, สปสช., สภาเภสัชกรรม, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ