นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงปัจจัยด้าน Environmental, Social และ Governance (ESG) มีความสำคัญมากขึ้นในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เมื่อทั่วโลกต่างวางแผนที่จะบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero กันในอนาคต โดยในปัจจุบัน ธุรกิจอสังหาริทรัพย์ มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 25-40% จากการมีห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมโยงกับธุรกิจที่ปล่อยมลภาวะสูง เช่น ปูนซีเมนต์ เหล็ก อะลูมิเนียม และกระจก อีกทั้งยังมีการใช้ไฟฟ้าและน้ำที่มากในขั้นตอนการดำเนินงานของอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์
ประเภทของอสังหาริมทรัพย์ที่ควรหันมาให้ความสำคัญกับการยกระดับการดำเนินงานให้ได้มาตรฐาน ESG โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านสิ่งแวดล้อม คือ
1. โรงงาน/นิคมอุตสาหกรรม เนื่องจากบริษัทขนาดใหญ่ของโลก เช่น Toyota, Honda หรือ Apple ได้เริ่มออกกฎระเบียบให้บริษัทต่างๆ ในห่วงโซ่อุปทานต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ Net Zero ส่งผลให้ผู้เช่าหรือผู้ซื้อโรงงาน/นิคมอุตสาหกรรมในไทยที่มีฐานะเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนหรือคู่ค้าของบริษัทดังกล่าวต้องบรรลุเป้าหมาย Net Zero Supply Chain ไปพร้อมกัน เช่นเดียวกับ
2. อสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ ได้แก่ สำนักงาน และห้างค้าปลีกที่มีการใช้พลังงานที่ค่อนข้างมาก สะท้อนจากต้นทุนค่าไฟฟ้าและค่าน้ำที่สูงราว 15% ของรายได้ค่าเช่าอาคาร ส่วนกรณีของที่อยู่อาศัยมองว่า ผู้พัฒนาบ้านจัดสรร และคอนโดมิเนียมควรปรับปรุงการพัฒนาโครงการเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่สังคม Net Zero ที่อาจมีข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อมเข้มงวดขึ้นเหมือนในสหราชอาณาจักรที่ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาได้ออกกฎระเบียบให้การสร้างที่อยู่อาศัยตั้งแต่ปี 68 เป็นต้นไปต้องปล่อย CO2 ลดลง 30%
นายกณิศ อ่ำสกุล นักวิเคราะห์ กล่าวว่า Global Real Estate Sustainability Benchmark (GRESB) และ Leadership in Energy & Environmental Design (LEED) จัดเป็น 2 มาตรฐาน ESG ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับการยอมรับกันในระดับโลก สะท้อนจากจำนวนผู้ประกอบการและโครงการอสังหาฯ ทั่วโลกที่ได้รับการรับรองมาตรฐานดังกล่าวที่มากถึง 1,520 ราย สำหรับ GRESB และเกือบ 92,700 โครงการสำหรับ LEED เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยกว่าปีละ 15% และ 10% ในช่วง 5 ปีหลังสุด ตามลำดับ ทั้งนี้ แม้ทั้ง 2 มาตรฐานจะมีจุดแตกต่างกันบ้างตรงที่ GRESB จะเป็นการขอมาตรฐานในระดับผู้ประกอบการ ขณะที่ LEED จะเป็นการขอมาตรฐานรายโครงการ แต่เกณฑ์การประเมินความยั่งยืนของทั้ง 2 มาตรฐานมีการใช้ปัจจัยที่คล้ายกัน เช่น การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบ การประหยัดพลังงานไฟฟ้าและน้ำ การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยข้อมูลล่าสุดพบว่าในไทยมีผู้ประกอบการ 5 รายที่ได้มาตรฐาน GRESB และ 212 โครงการอสังหาฯ ที่ได้มาตรฐาน LEED
นอกจากการปรับปรุงขั้นตอนการดำเนินงานให้เกิดความยั่งยืนตามมาตรฐาน ESG เพื่อเข้าสู่สังคม Net Zero แล้ว การปฏิบัติตามมาตรฐาน GRESB และ LEED ยังมีประโยชน์ต่อผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั้ง การส่งเสริมภาพลักษณ์และชื่อเสียงด้าน ESG ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสที่ผู้พัฒนาอสังหาฯ จะได้รับการลงทุนจากต่างประเทศ เห็นได้จากผลสำรวจของบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจชื่อดังอย่าง pwc และ Gartner ที่ระบุว่า 79-85% ของนักลงทุนมีการใช้ปัจจัยด้าน ESG ในการตัดสินใจลงทุน
ขณะเดียวกันก็ยังช่วยเพิ่มโอกาสในการทำกำไรให้กับผู้พัฒนาอสังหาฯ เชิงพาณิชย์ อาทิ สำนักงาน และห้างค้าปลีก เนื่องจากการลงทุนเปลี่ยนอาคารเดิมให้เป็น Green Building ตามมาตรฐาน LEED จะทำให้อาคารมีค่าใช้จ่ายไฟฟ้าและน้ำลดลง 30% และ 10% อัตรากำไรสุทธิของธุรกิจสำนักงาน และห้างค้าปลีกจึงมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นจากเดิมได้ราว 3-4%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 เม.ย. 65)
Tags: KTB, กณิศ อ่ำสกุล, ธนาคารกรุงไทย, พชรพจน์ นันทรามาศ, อสังหาริมทรัพย์