นายราเมศ รัตนะเชวงโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ได้กล่าวถึง กรณีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้ใช้อำนาจตามกฎหมายแจ้งไปยังพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เพื่อให้คณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) มีมติเด็ดขาดตามข้อบังคับพรรค กรณีคดีของนายปริญญ์ พานิชภักดิ์ ถูกกล่าวหาในคดีล่วงละเมิดทางเพศ ว่า ขอย้ำว่าพรรคไม่ได้นิ่งนอนใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีการหารือเป็นการภายใน อย่างใกล้ชิด เก็บรายละเอียดต่างๆไว้อย่างครบถ้วน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพรรคตระหนักดีในเรื่องดังกล่าวว่าเป็นเรื่องคุณธรรมและจริยธรรม ได้ให้ความสำคัญมาโดยตลอด กระบวนการภายในของพรรคในหลายเรื่องก็ไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่ยืนยันว่าพรรคไม่ได้นิ่งนอนใจ หรือปล่อยปละละเลยต่อเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด
นายราเมศ ได้กล่าวต่อว่า นายปริญญ์ ได้ลาออกจากสมาชิกพรรคแล้วตั้งแต่วันที่ 14 เมษายน ที่ผ่านมา และในวันนี้ 18 เมษายน ช่วงเช้าซึ่งเป็นวันทำการวันแรก ก็มีการรับลงในระบบ เพื่อดำเนินการแจ้งต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองต่อไป ยืนยันว่าพรรคได้มีการปฏิบัติตามกฎหมายพรรคการเมืองและข้อบังคับโดยเคร่งครัด เมื่อมีการไปร้องต่อ นายทะเบียนพรรคการเมือง ก็ให้เป็นดุลพินิจไม่ขอไปก้าวล่วง ให้ว่ากันไปตามกระบวนการ
พร้อมระบุว่า พรรคและทุกคนในพรรคยอมรับกระบวนการตรวจสอบ ให้ดำเนินการตรวจสอบได้เต็มที่ เพราะเมื่อทุกคนเข้ามาอยู่ตรงนี้การยอมรับการตรวจสอบคือเรื่องพื้นฐานในระบบประชาธิปไตย ความเป็นพรรคการเมืองนักการเมือง มีเครื่องพิสูจน์ตลอดระยะเวลาบนเส้นทางที่อาสามารับใช้ประชาชน การตรวจสอบถือว่าเป็นเรื่องสำคัญของการนำไปสู่บ้านเมืองสุจริต
ด้านรายงานข่าวจากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แจ้งว่า กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอกและราษฎรมูเตลู นัดทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์แสดงสีดาลุยไฟ เพื่อเรียกร้องให้นักการเมืองเอาจริงเอาจังในการยุติความรุนแรงทางเพศ โดยระบุว่าเมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้ว ผู้ผิดคือผู้กระทำไม่ใช่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ
ทางกลุ่มฯ ได้อ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้อง 5 ข้อต่อพรรคประชาธิปัตย์ อาทิ พรรคประชาธิปัตย์ต้องสอบสวนข้อเท็จจริงให้ปรากฎเพราะการคุกคามทางเพศถือเป็นอาชญากรรม ต้องตรวจสอบผู้สมัคร และกรรมการบริหารพรรคทุกระดับต้องมีกฎและข้อบังคับทางจริยธรรมที่ชัดเจนเกี่ยวกับความผิดเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศและความรุนแรงทุกรูปแบบ ต้องไม่แทรกแซงกระบวนการสอบสวน และขอให้พรรคประชาธิปัตย์ขอโทษอย่างจริงใจต่อเรื่องที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ น.ส.รัชดา ธนาดิเรก กรรมการบริหารพรรคฯ ได้เดินทางมาร่วมรับฟังข้อเรียกร้อง พร้อมกล่าวว่า ทางพรรคพร้อมรับฟังทุกข้อเสนอแนะ
“ยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการสอบสวนทางคดี ในทางกลับกันหากมีผู้เสียหายต้องการความช่วยเหลือให้ประสานมาทางพรรคประชาธิปัตย์จะให้ความช่วยเต็มที่ ซึ่งจะมีทีมทนายสตรีและกลุ่มนักการเมืองหญิงที่จะให้ความช่วยเหลือ”
น.ส.รัชดา กล่าว
น.ส.รัชดา กล่าวว่า ส่วนกรณีเรียกร้องให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาแสดงความรับผิดชอบด้วยการขอโทษนั้น ทุกเรื่องที่เป็นเสียงสะท้อนของประชาชน กก.บห.พรรครับทราบและจะมีการประชุมโดยด่วน แต่เนื่องจากที่ผ่านมาอยู่ในช่วงวันหยุดสงกรานต์ นายจุรินทร์ติดภารกิจลงพื้นที่ต่างจังหวัด
สำหรับกรณีคลิปเสียงที่นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือทนายตั้ม เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายเพื่อประชาชนฯ ปล่อยออกมาล่าสุด โดยรายละเอียดในคลิประบุ นาย ป.อ้าง สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นเกมส์การเมืองของพรรคก้าวไกล ที่จะทำลายชื่อเสียงนั้นก็ขอให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้ตรวจสอบ
ด้านนายชวน หลีกภัย ประธานผู้แทนราษฎร และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ปชป. กล่าวว่า ไม่ขอก้าวล่วงปัญหาภายในพรรค เพราะเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารพรรคที่ต้องจัดการ แต่ส่วนตัวมองว่าถ้าเป็นประเด็นที่กระทบต่อชื่อเสียงของพรรค กระทบต่อผู้สนับสนุนพรรค ก็จำเป็นที่พรรคควรต้องออกมาชี้แจง เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจของสังคมที่คลาดเคลื่อน
“เมื่อเกิดปัญหา ควรหาโอกาสชี้แจง ไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด โดยเฉพาะขณะนี้ เริ่มมีบางประเด็นที่สื่อมวลชน นำเสนอคลาดเคลื่อนไม่ค่อยตรงนัก จึงอยากให้พรรคชี้แจง”
นายชวน กล่าว
พร้อมยอมรับว่า เรื่องที่เกิดขึ้นกระทบกับชื่อเสียงพรรคประชาธิปัตย์ เพราะทุกเรื่องกระทบกับพรรคเสมอ เรื่องดีก็กระทบในทางที่ดี แต่เรื่องที่ไม่ปกติ ก็จะกระทบในทางที่ไม่ปกติ ส่วนตัวเชื่อว่าพรรคยึดหลักความถูกต้อง ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีอะไรที่เหนือกฎหมาย เรื่องนี้สำคัญมากในระบอบประชาธิปไตย เพราะในระบบประชาธิปไตย ถ้ากฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ประชาธิปไตยก็ไปไม่รอด ดังนั้นความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายเป็นเรื่องสำคัญ ถูก-ผิดก็ว่าไปตามนั้น
ส่วนที่มีการเรียกร้องให้กรรมการบริหารพรรคลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบนั้น นายชวน กล่าวว่า เป็นเรื่องที่กรรมการบริหารพรรคต้องไปคุยกัน แต่ตามข้อบังคับพรรคมีมาตรฐานทางจริยธรรม โดยที่ผ่านมา แม้แต่รัฐมนตรีที่ถูกครหาในเรื่องที่จริงบ้างไม่จริงบ้าง ที่ผ่านมาก็มีการพิจารณา บางคนก็เคยให้ออกไปก่อน เพื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ ซึ่งที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์เป็นแบบอย่างเรื่องนี้มาโดยตลอด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 เม.ย. 65)
Tags: ปริญญ์ พานิชภักดิ์, พรรคประชาธิปัตย์, ราเมศ รัตนะเชวง, ศรีสุวรรณ จรรยา