นักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์คาดการณ์ว่า มีโอกาสราว 35% ที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเผชิญภาวะถดถอยในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยแสดงความเห็นว่า สถิติที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าเมื่อธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินเพื่อสกัดเงินเฟ้อ มักจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญภาวะถดถอย
นายแจน ฮัทซีอุส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของโกลด์แมน แซคส์เปิดเผยในรายงานล่าสุดว่า ความท้าทายของเฟดคือการลดช่องว่างระหว่างตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน (Job Openings) และจำนวนคนทำงาน และชะลอการเติบโตของอัตราค่าจ้างให้สอดคล้องกับเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% ด้วยการใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินที่รุนแรงมากพอที่จะทำให้ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานปรับตัวลงโดยไม่ทำให้อัตราว่างงานพุ่งขึ้นอย่างรุนแรง
ในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานของสหรัฐ ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน ลดลง 17,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 11.266 ล้านตำแหน่ง แต่ยังสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 11.0 ล้านตำแหน่ง จากระดับ 11.283 ล้านตำแหน่งในเดือนม.ค.
ทั้งนี้ ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานถือเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสนใจอย่างมาก โดยมองว่าเป็นมาตรวัดภาวะตึงตัวในตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยในการพิจารณานโยบายการเงิน และอัตราดอกเบี้ยของเฟด
นักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์ยังกล่าวด้วยว่า ความพยายามของเฟดที่จะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป หรือ Soft Landing นั้น อาจเป็นเรื่องยาก เพราะจากสถิติที่ผ่านมานั้น การลดลงของช่องว่างระหว่างตัวเลขการเปิดรับสมัครและจำนวนคนทำงานจะเกิดขึ้นในช่วงที่สหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยเท่านั้น
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์ระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นสถานการณ์ที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากเมื่ออุปทานแรงงานและราคาสินค้าคงทน (Durable Goods) กลับคืนสู่ภาวะปกติในยุคหลังโควิด-19 เฟดจะมีท่าทีผ่อนคลายลง นอกจากนี้ ประเทศอื่น ๆ ในกลุ่ม G10 ก็เคยทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปได้สำเร็จมาแล้วเช่นกัน โดยกลุ่ม G10 ประกอบไปด้วยเบลเยียม, แคนาดา, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี, ญี่ปุ่น, เนเธอร์แลนด์, สวีเดน, สวิตเซอร์แลนด์ และอังกฤษ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 เม.ย. 65)
Tags: ธนาคารกลางสหรัฐ, นโยบายการเงิน, เฟด, เศรษฐกิจสหรัฐ