นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ระบุว่า ความเสี่ยงของการที่ประเทศจะถูกลดอันดับเครดิตหรือความน่าเชื่อถือนั้น มีความเป็นไปได้ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า หากหนี้สาธารณะทะลุระดับ 70% ของจีดีพี และระบบเศรษฐกิจไทยโดยรวมไม่สามารถหารายได้มากพอที่ทำให้การชำระหนี้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น รวมทั้งไม่สามารถเพิ่มรายได้การจัดเก็บภาษี
อย่างไรก็ตาม ฐานะทางการคลังของไทยยังพอไปได้ เพราะยังมีหนี้ต่างประเทศในระดับต่ำมาก ในส่วนรายได้ภาษีในงบประมาณปี 65 ก็จะเก็บไม่ได้ตามเป้าแน่นอน สมมติฐานของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2565 ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะตั้งสมมติฐานว่าจะขยายถึง 4-5% ซึ่งขณะนี้ประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้ของสำนักวิจัยทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ก็ปรับลงมาต่ำกว่า 3% แสดงว่าตั้งสมมติฐานไม่เป็นไปตามความเป็นจริง อีกทั้งกระทรวงสำคัญๆ เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ ล้วนได้รับงบประมาณลดลงทั้งสิ้น แต่กระทรวงกลาโหม และสำนักนายกรัฐมนตรีได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้น
“ความจำเป็นในการกู้เงินเพิ่มเติมนั้นมีอยู่ แต่ต้องไปตัดงบไม่จำเป็นออกก่อน และไม่ควรออกเป็นพระราชกำหนด เพราะอาจเกิดความไม่โปร่งใสในการใช้งบได้ง่าย ค่อนข้างมั่นใจว่า รัฐบาลจำเป็นต้องทำงบกลางปีแน่นอน เพราะเม็ดเงินที่จัดสรรไม่เพียงพอแน่นอน” นายอนุสรณ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม การกู้เงินหรือก่อหนี้สาธารณะของรัฐเพื่อนำมาใช้จ่ายที่มีความจำเป็น ต้องเข้าใจว่าเงินเหล่านี้จะเป็นหนี้สาธารณะที่ประชาชนผู้เสียภาษีต้องร่วมกันรับผิดชอบ จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลควรออกเป็นพระราชบัญญัติ ไม่ใช่ออกเป็นพระราชกำหนดเพื่อให้รัฐสภาร่วมพิจารณา ผู้แทนประชาชนจะได้ร่วมตรวจสอบโครงการต่างๆ ในการใช้งบให้มีประสิทธิภาพและตรงเป้าหมาย เม็ดเงินกู้ 5 แสนล้านบาท ควรทำให้จีดีพีขยายตัวเพิ่มได้อีกประมาณ 0.3%
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า กลไกหลักในการขับเคลื่อนตอนนี้มีเพียงภาคส่งออก การลงทุน และการใช้จ่ายของภาครัฐ ภาคส่วนอื่นๆ ยังไม่ฟื้นตัว แม้ภาคท่องเที่ยวจะกระเตื้องขึ้นหลังการเปิดประเทศ แต่ยังไม่มีทีท่าจะฟื้นตัวกลับไปที่ระดับเดิมก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโควิดได้ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า การก่อหนี้สาธารณะจำนวนมากจะสามารถทยอยชำระคืนได้ในอนาคตหากเศรษฐกิจขยายตัวได้ในระดับไม่ต่ำกว่า 3-4% เป็นอย่างน้อย และรัฐบาลในอนาคตต้องปฏิรูปโครงสร้างภาษีและเก็บภาษีทรัพย์สินให้ได้มากพอ
“สถานการณ์เฉพาะหน้ารัฐบาลนี้ อาจต้องแก้กฎหมายเพื่อขยับเพดานการก่อหนี้ก่อน กรณีหลังนี้ รัฐบาลจะหลุดกรอบวินัยทางการเงินการคลังไปแล้ว ประเทศน่าจะมีความเสี่ยงทางการคลังในอนาคตได้” นายอนุสรณ์ กล่าว
พร้อมมองว่า รัฐบาลสามารถก่อหนี้เพิ่มได้ แต่ไม่ควรใช้วิธีเอาเงินไปแจก ควรเพิ่มการลงทุน เพื่อให้เกิดการจ้างงาน เกิดรายได้ มาชำระหนี้ในอนาคต เงินกู้ของรัฐหรือการก่อหนี้สาธารณะต้องนำเงินกู้มาใช้อย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ ต้องวางแผนหาวิธีในการคืนเงินกู้ทุกครั้ง เพื่อลดผลกระทบที่จะเป็นภาระต่อรัฐบาลและประชาชนผู้เสียภาษี และต้องตระหนักว่าทุกๆ การใช้จ่ายของรัฐบาลจากเงินกู้ ย่อมหมายถึงภาษีที่จะต้องเพิ่มขึ้นในอนาคต เพื่อนำไปจ่ายเงินกู้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย
นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า อุปสงค์มวลรวมยังอ่อนแอ ประชาชนจำนวนมากยังมีรายได้ลดลง ภาคธุรกิจโดยรวมยอดขายยังไม่ฟื้นกลับสู่ระดับเดียวก่อนเกิดโควิดปี 2562 หนี้เสียจะยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง กระทบภาคการเงินอ่อนแอลง ดังนั้นขอเตือนว่า อาจมีสถาบันการเงินไทยถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือเพิ่มเติมอีก หลังจากธนาคาร 4 แห่งถูกลดอันดับเครดิตไปก่อนหน้านี้ พร้อมคาดว่าธุรกิจประกันภัยมีปิดกิจการเพิ่มอีกช่วงครึ่งปีหลัง หนี้ครัวเรือนพุ่งแตะระดับ 91% ของจีดีพี หนี้ส่วนนี้มีโอกาสกลายเป็นหนี้เสีย เนื่องจากครัวเรือนรายได้น้อยมีสัดส่วนหนี้ต่อรายได้สูงมาก และยังเผชิญค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นจากราคาพลังงานและต้นทุนวัตถุดิบต่างๆ ที่ปรับตัวสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม หนี้ครัวเรือนแม้จะเป็นปัญหาใหญ่ แต่ไม่สามารถทำให้ฐานะทางการเงินของสถาบันการเงินส่วนใหญ่สั่นคลอนได้ ปัญหาหนี้เสียในระบบธนาคารจะรุนแรงเมื่อธุรกิจขนาดใหญ่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณเช่นนั้นชัดนัก แต่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยขอให้ติดตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นให้ดี เพราะสิ่งนี้จะกระทบปัญหาในทุกระดับของไทย ไม่ว่าจะเป็นหนี้ครัวเรือน หนี้ภาคธุรกิจ หรือหนี้สาธารณะ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 เม.ย. 65)
Tags: lifestyle, สถาบันการเงิน, หนี้สาธารณะ, หนี้เสีย, อนุสรณ์ ธรรมใจ, เศรษฐกิจไทย