เมืองอัจฉริยะคืออะไร?
“เมืองอัจฉริยะ” หรือ Smart City เป็นเมืองที่ผู้อยู่อาศัยได้รับและเข้ามีส่วนร่วมในการบริการต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การรับการบริการด้านไฟฟ้า น้ำประปาเพื่อการอุปโภคบริโภค การจัดการขยะ การรับบริการด้านการขนส่ง โดยใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านสังคม และด้านเศรษฐกิจ ภายใต้แนวคิดด้านความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีพลเมืองเป็นศูนย์กลางของระบบเหล่านี้
หากสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของมลพิษทางอากาศในเมืองเกิดจากการใช้ยานยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป (Internal Combustion Engine: ICE) สภาพการจราจรที่ติดขัด ระบบการขนส่งอัจฉริยะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยอาศัยเทคโนโลยีการสื่อสารและนวัตกรรมต่าง ๆ เช่น พลเมืองที่อาศัยอยู่ในกรุงเฮลซิงกิ (ประเทศฟินแลนด์) สามารถใช้แอปพลิเคชั่น ชื่อ “Whim” เพื่อวางแผนและชำระค่าบริการการเดินทางโดยการขนส่งสาธารณะทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการบริการโดยรัฐหรือเอกชน เช่น รถไฟ รถแท็กซี่ รถโดยสารสาธารณะ รถที่ใช้ร่วมกัน (carshare) หรือจักรยานที่ใช้ร่วมกัน (bikeshare) ผู้เดินทางสามารถระบุปลายทาง ระบุความประสงค์เกี่ยวกับรูปแบบการเดินทาง แอปพลิเคชันจะออกแบบการเดินทางให้ผู้เดินทาง ซึ่งอาจเป็นการรวมเอาวิธีการเดินทางหลายแบบรวมเข้าด้วยกัน ผู้ใช้บริการสามารถชำระค่าบริการโดยจ่ายเงินเอาไว้ล่วงหน้า จ่ายเป็นรายเดือน หรือจ่ายเมื่อรับบริการเสร็จสิ้น
ระบบการขนส่งดังกล่าว “ไม่ได้บังคับ” ให้ผู้เดินทางลดหรือเลิกการใช้ยานยนต์ส่วนตัว แต่ได้ให้ “ทางเลือก” ในการเดินทางที่สะดวกกว่า การลดมลพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์สันดาปเกิดจากการเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางโดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการเพิ่มความสะดวกสบายแก่ผู้เดินทาง ในเมือง การขึ้นรถโดยสารสาธารณะซึ่งเป็นยานยนต์ไฟฟ้าต่อจากการใช้ขี่จักรยานระยะสั้น ๆ จากหน้าบ้าน อาจเป็นทางเลือกที่สะดวกที่สุดและประหยัดที่สุดสำหรับการเดินทางในครั้งนั้น ๆ แต่ทางเลือกดังกล่าวนี้จำเป็นที่จะต้องมีระบบโครงสร้างพื้นฐานรองรับ จะเห็นได้ว่าผู้รับบริการในการเดินทางและผู้ให้บริการขนส่งนั้นมีปฏิสัมพันธ์กันแพล็ทฟอร์มดิจิทัลซึ่งช่วยให้ทั้งการให้และรับบริการเป็นไปโดยมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม กิจกรรมที่เกิดขึ้นในเมืองอัจฉริยะนั้นจะต้องเป็นไปโดยมีความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมอีกด้วย การใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในเมืองอัจฉริยะอาจช่วยให้ลดมลพิษทางอากาศในเมืองนั้น ๆ ได้ เนื่องจากยานยนต์ไฟฟ้ามิได้ปล่อยมลพิษขณะใช้งาน แต่ไม่ได้หมายความว่ายานยนต์นั้นจะไม่ใช้พลังงาน ยานยนต์ไฟฟ้ายังคงใช้ไฟฟ้าในการใช้งาน ในขณะเดียวกันการใช้งานดิจิทัลแฟล็ตฟอร์มของผู้ใช้บริการ การประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อสนับสนุนการให้บริการก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะมีการใช้พลังงาน เช่น ไฟฟ้า หากไฟฟ้าถูกผลิตขึ้นจากเชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์ (Fossil Fuels) ในเมืองอื่นเพื่อส่งมายังเมืองอัจฉริยะ ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมของเมืองอัจฉริยะย่อมกลายเป็นภาระกับเมืองอื่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ *การมีส่วนร่วมของพลเมืองในการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนในเมืองที่ตนอยู่อาศัย: P2P Electricity Trading
หากผู้อยู่อาศัยในเมืองจะเข้ามีส่วนร่วมในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในเมืองที่ตนอยู่อาศัยโดยการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าซึ่งจะถูกใช้เพื่อยานยนต์ไฟฟ้าในเมืองที่ตนอยู่อาศัยจะเป็นไปได้หรือไม่? กิจกรรมดังกล่าวจำเป็นที่เมืองจะต้องระบบโครงข่ายไฟฟ้าซึ่งรองรับการผลิตและการจำหน่ายไฟฟ้าดังกล่าวโดยสามารถเชื่อมโยงการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างคนในเมืองได้ แนวคิดเกี่ยวกับการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างผู้ใช้ไฟฟ้าด้วยกันโดยปราศจากคนกลางมีชื่อเรียกว่า “P2P Electricity Trading”
การซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบ P2P นั้น เจ้าของบ้านหรืออาคารพาณิชย์ (ซึ่งไม่ได้เป็นโรงไฟฟ้า) อาจติดตั้งระบบแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองในครัวเรือน และอาจจะขายไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ารายอื่นได้โดยไม่ได้ขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย โดยอาศัยระบบคอมพิวเตอร์เชื่อมผู้ผลิตและผู้ซื้อไฟฟ้าเข้าโดยกัน กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าอุปสงค์และอุปทานไฟฟ้าดังกล่าวถึงจะ “เจอกัน” และ “เกิดธุรกรรมการซื้อขาย” ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม
แนวคิดดังกล่าวปรากฏในรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การเตรียมความพร้อมต่อนวัตกรรม Blockchain ทางเลือกใหม่ของผู้ใช้ไฟฟ้า (28 มกราคม พ.ศ. 2562) โดยคณะกรรมาธิการการพลังงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ให้นิยามของการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชนโดยปราศจากคนกลางเอาไว้ว่า
“การซื้อขายไฟฟ้าระหว่างผู้ใช้ไฟฟ้า (Consumer) ซึ่งปรับเปลี่ยนเป็นผู้ผลิตไฟฟ้า (Producer) บางส่วน จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงผู้ใช้ไฟฟ้า (Prosumer) และทำธุรกรรมซื้อขายไฟฟ้าโดยตรงกับผู้ใช้ไฟฟ้าโดยไม่ต้องมีคนกลาง”
สัญญาซื้อขายไฟฟ้าสำหรับธุรรมแบบ P2P นั้นเกิดขึ้นผ่านระบบออนไลน์ได้ อย่างไรก็ตาม การส่งไฟฟ้าระหว่างผู้ขายไปยังผู้ซื้อไฟฟ้านั้นเป็นกิจกรรมที่ต้องอาศัยระบบโครงข่ายไฟฟ้าซึ่งทำหน้าที่นำไฟฟฟ้าจากสถานที่ผลิตยังผู้ใช้ไฟฟ้าปลายทาง ดังนั้น ในทางเทคนิคแล้วจึงยังมีความจำเป็นที่ผู้ซื้อและผู้ขายไฟฟ้าจะต้องมีระบบโครงข่ายพลังงานที่รองรับการทำธุรกรรมในรูปแบบ P2P ดังกล่าว ซึ่งระบบโครงข่ายไฟฟ้าดังกล่าวสามารถถูกสร้างหรือพัฒนาขึ้นในเมืองอัจฉริยะด้านพลังงาน *การพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้รองรับ P2P Electricity Trading ในเมืองอัจฉริยะ
การพัฒนาเมืองเดิมให้กลายเป็นเมืองที่มีอยู่เดิม่ให้มีความอัจฉริยะขึ้น เช่น ทำให้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าในเมืองสามารถรองรับการซื้อขายไฟฟ้าและการส่งไฟฟ้าแบบ P2P ได้นั้นจำเป็นที่จะต้องมีการลงทุนและพัฒนา คำถามคือใครจะลงทุนเพื่อพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์อะไรหรือไม่? หากผู้พัฒนาเมืองเป็นบริษัทเอกชน ก็ย่อมมีคำถามมาได้ว่าการลงทุนนั้นจะมีโอกาสสร้างกำไรหรือคุณค่าใด ๆ แก่นักพัฒนาดังกล่าวหรือไม่?
ประกาศคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ที่ 1/2562 เรื่อง หลักเกณฑ์การประเมิน และคุณสมบัติ วิธีการ และกระบวนการในการพิจารณาการเป็นเมืองอัจฉริยะ (ประกาศเมืองอัจฉริยะฯ) กำหนดให้ นิติบุคคล ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานอื่นของรัฐ หรือเอกชนให้สามารถยื่นข้อเสนอเพื่อเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการพัฒนาและขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ ซึ่งรวมถึงความอัจฉริยะด้านพลังงานของเมืองด้วย
โดยประกาศดังกล่าวได้ให้นิยามของ “พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy)” เอาไว้ว่า “เมืองที่สามารถจัดการด้านพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างสมดุลระหว่างการผลิตและการใช้พลังงานในพื้นที่เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และลดการพึ่งพลังงานจากระบบโครงข่ายไฟฟ้าหลัก”
ผู้ยื่นข้อเสนอสามารถยื่นข้อเสนอการจัดทำและส่งแผนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะตามประกาศเมืองอัจฉริยะฯ เพื่อให้คณะกรรมการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะพิจารณา หากคณะกรรมการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะให้ความเห็นชอบเมืองอัจฉริยะ เมืองดังกล่าวจะได้รับการประกาศว่าเป็นเมืองอัจฉริยะ การลงทุนโดยหน่วยงานหรือการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเมืองอัจฉริยะสามารถขอรับพิจารณาสิทธิประโยชน์เมืองอัจฉริยะทางด้านภาษีและมิใช้ภาษีที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือคณะกรรมการระดับชาติอื่นใดกำหนดต่อไป9 และเมื่อเมืองที่ถูกยื่นข้อเสนอถูกประกาศให้เป็นเมืองอัจฉริยะแล้ว ผู้ยื่นข้อเสนอจะกลายเป็น “ผู้พัฒนาเมืองอัจฉริยะ”
ดังนั้น ตามประกาศเมืองอัจฉริยะฯ บริษัทเอกชนซึ่งได้ยื่นข้อเสนอและกลายเป็นผู้พัฒนาเมืองอัจฉริยะย่อมมีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์เมืองอัจฉริยะทางด้านภาษีและมิใช้ภาษีเพื่อการลงทุนในการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าเพื่อสนับสนุนความอัจฉริยะของเมืองในด้านพลังงาน *รายได้จากการให้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าเพื่อรองรับ P2P Electricity Trading
การก่อสร้างและใช้งานระบบโครงข่ายไฟฟ้าเพื่อรองรับ P2P Electricity Trading นั้นมีต้นทุนสูงและจำเป็นที่ผู้ให้บริการระบบโครงข่ายนั้นจะต้องได้รับ “ค่าบริการ” ในการส่งไฟฟ้าผ่านระบบโครงข่ายไฟฟ้าของตน กล่าวคือจะต้องได้รับบริการขนส่งไฟฟ้าซึ่งมีการซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบ P2P ด้วย คำถามคือ ผู้ก่อสร้างและให้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าดังกล่าวมีสิทธิในการเก็บค่าบริการหรือไม่เพียงใด?
การประกอบกิจการระบบโครงข่ายไฟฟ้า ไม่ว่าเป็นระบบส่งหรือระบบจำหน่ายไฟฟ้านั้นเป็นการประกอบกิจการพลังงานซึ่งสามารถขอรับใบอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานได้ตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ประกอบประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง การกำหนดประเภทและอายุใบอนุญาตการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2551
ผู้พัฒนาเมืองซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการระบบโครงข่ายไฟฟ้ามีหน้าที่ตามกฎหมายประกอบกิจการพลังงานอย่างเป็นธรรมและจะเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมมิได้ และต้องยินยอมให้ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้ประกอบกิจการพลังงานรายอื่นใช้หรือเชื่อมต่อระบบโครงข่ายพลังงานของตน ทั้งนี้ ตามข้อกำหนดที่ผู้รับใบอนุญาตที่มีระบบโครงข่ายพลังงานประกาศกำหนด
การยอมให้คนอื่นใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าตามกฎหมายดังกล่าวนั้นเป็นกิจกรรมที่ผู้พัฒนาเมืองสามารถเรียกเก็บค่าบริการได้ซึ่งมีประเด็นให้ต้องพิจารณาต่อไปว่า “ค่าบริการ” นั้นจะคิดได้ในอัตราเท่าใด สิทธิและหน้าที่ระหว่างผู้พัฒนาเมืองในฐานะเจ้าของระบบโครงข่ายและผู้ซื้อขายไฟฟ้าจะเป็นอย่างไร ประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นที่เกี่ยวกับสิทธิของบุคคลที่สามในการขอใช้หรือเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Third-Party Access) และถูกกำหนดในสัญญาใช้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Wheeling Service Agreement) ซึ่งจะได้มีรายละเอียดในบทความฉบับถัดไป
อ.ดร.ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ
ผู้อำนวยการหลักสูตร LL.M. (Business Law) หลักสูตรนานาชาติ
คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 เม.ย. 65)
Tags: Smart City, พลังงานสะอาด, สิ่งแวดล้อม, เมืองอัจฉริยะ