เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา Binance ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสินทรัพย์เสมือนจาก Virtual Asset Regulatory Authority หรือ VERA ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลของนครดูไบ ศูนย์กลางทางการเงินแห่งหนึ่งของโลก และประเทศต่าง ๆ ก็กำลังพิจารณากำหนดนโยบายดึงดูดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเข้ามาลงทุนในประเทศของตนเองภายใต้การกำกับเพิ่มมากขึ้น
แต่อย่างไรก็ตามแม้ Binance จะเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) อันดับแรก ๆ ที่ชาวไทยรู้จักและยังเคยให้บริการด้วยภาษาไทยด้วย แต่ Binance ก็ยังไม่ได้รับการอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย อีกทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก็ได้กล่าวโทษ Binance กรณีประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยไม่ได้รับอนุญาตต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ เป็นความผิดตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 อันเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่มีโทษทางอาญากับ Binance
นั่นเป็นเพียงวิบากกรรมขั้นต้นที่ Binance จะต้องเผชิญ เพราะหากต้องการขยายฐานการให้บริการมายังประเทศไทยอย่างเป็นทางการ Binance จะต้องดำเนินการตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 ที่กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลหรือผู้ให้บริการที่กฎหมายกำหนดจะต้องได้รับใบอนุญาตก่อนการให้บริการใด ๆ ที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล
และเมื่อพิจารณาการให้บริการของ Binance แล้วจะต้องขอใบอนุญาตต่าง ๆ มากกว่าหนึ่งใบอนุญาต เช่น ใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อให้บริการเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ Exchange หรือใบอนุญาตผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล หรือ ICO portal สำหรับให้บริการในการเสนอขายโทเคนดิจิทัลใหม่ ๆ และใบอนุญาตผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลหรือ Digital Asset Fund Manager อีกด้วย ซึ่งการขอใบอนุญาตต่าง ๆ จากสำนักงาน ก.ล.ต. มีเงื่อนไขที่เข้มงวดตามกฎหมาย
รวมถึงการให้บริการที่เกี่ยวเนื่องอื่น ๆ ที่กฎหมายของประเทศไทยยังไม่ได้กล่าวถึง หรือยังไม่ได้ถูกกำกับควบคุมอย่างชัดเจน เช่น การลงทุนในตลาด Futures การฝากสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อรับดอกเบี้ย หรือระบบซื้อขายระหว่างบุคคลต่อบุคคล (P2P) ก็อาจไม่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการหรือไม่สามารถดำเนินการได้
นอกจากนั้นแล้วบริการอื่น ๆ ของ Binance ยังอาจถูกกำกับโดยหน่วยงานอื่น ๆ อีก เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีหน้าที่กำกับดูแลระบบชำระเงินภายในประเทศไทย รวมถึงการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลใด ๆ เพื่อเป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ หรือ Means of Payment ที่จะต้องถูกกำกับดูหรือแลอย่างเข้มงวด การใช้คริปโทเคอร์เรนซี เช่น BUSD ที่ออกโดย Binance ในฐานะสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ หรือระบบการชำระและรับชำระ หรือ e – payment ซึ่งใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสื่อกลาง ก็อาจถูกจำกัดไม่ให้ใช้งานในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
เมื่อพิจารณาจากตัวอย่างอุปสรรคต่าง ๆ เบื้องต้นแล้วหาก Binance ซึ่งเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) เบอร์ต้นๆ ของโลกจะขยายการให้บริการหรือที่ทำการมายังประเทศไทย ก็อาจไม่คุ้มต่อการบริหารจัดการกับนานาอุปสรรคต่าง ๆ ที่อาจจะต้องเผชิญ ดังนั้นอาจถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศแรก ๆ ของโลกที่มีกฎหมายเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลโดยเฉพาะรวมถึงเป็นประเทศที่เปิดกว้างให้กับธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลประเทศหนึ่งของโลกจะต้องพิจารณาปรับเงื่อนไข กฎ ระเบียบต่าง ๆ เพื่อดึงดูดให้นักลงทุนหรือผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนหรือใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการให้บริการภายใต้การกำกับดูแลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสมไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา อันจะก่อให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะยาวต่อไป
นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ
อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 เม.ย. 65)
Tags: Binance, Cryptocurrency, Decrypto, ก.ล.ต., คริปโทเคอร์เรนซี, สินทรัพย์ดิจิทัล, ไบแนนซ์