นายกฯ ปลื้มต่างชาตินิยมใช้ไทยเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์โทรทัศน์โฆษณา

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีต่อกระแสความนิยมของประเทศไทยที่ยังคงเป็นประเทศตัวเลือกอันดับต้น ๆ ในการถ่ายทำของหมู่ผู้สร้างภาพยนตร์ต่างชาติ โดย ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) ถือเป็น 1 ใน 5 F อุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพที่รัฐบาลมุ่งขับเคลื่อน และผลักดัน “Soft Power”ความเป็นไทย เพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ สร้างรายได้และภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬารายงานว่า หลังจากที่รัฐบาลมีมาตรการผ่อนปรนให้กองถ่ายภาพยนตร์ โทรทัศน์ โฆษณา สามารถถ่ายทำต่อไปได้ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยคณะถ่ายทำภาพยนตร์จากต่างประเทศสามารถเดินทางเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทยได้นั้น ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 จนถึง 16 มีนาคม 2565 ภาพยนตร์ต่างประเทศ 196 เรื่อง เดินทางเข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย โดย 86 เรื่องมีทีมผลิตเป็นของตัวเอง และผู้สร้างภาพยนตร์ 86 คนนี้มาจาก 33 ประเทศ สร้างรายได้ถึง 4.24 พันล้านบาทให้กับประเทศ

นายธนกร กล่าวว่า โดย 5 ประเทศ ที่เดินทางมาใช้ประเทศไทยเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ในช่วงเวลาดังกล่าวมากที่สุด ได้แก่ อินเดีย ฝรั่งเศส สิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร ซึ่ง 3 ประเทศที่ใช้จ่ายในการสร้างภาพยนตร์มากที่สุดในประเทศไทยในช่วงเวลานั้น ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 1.95 พันล้านบาท ออสเตรเลีย 702 ล้านบาท และฮ่องกง 616 ล้านบาท ตามลำดับ

นายกรัฐมนตรีกำหนดนโยบายสนับสนุน Soft power ให้ประเทศ โดยอาศัยต้นทุนทางวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ที่มีอยู่มาต่อยอดให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของรัฐบาล และเร่งเดินหน้าส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยใน 15 สาขา อาทิ งานฝีมือและหัตถกรรม ดนตรี ศิลปะการแสดง และภาพยนตร์ เป็นต้น ขณะเดียวกันก็ผลักดันวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ 5 F ได้แก่ อาหาร (Food) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น (Fashion) มวยไทย (Fighting) แลการอนุรักษ์และขับเคลื่อน เทศกาล ประเพณีสู่ระดับโลก (Festival) โดยเชื่อมั่นว่ายังจะเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมส่งออกสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจหลังยุคโควิด -19 ที่สำคัญของไทย

“นโยบายส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นแหล่งถ่ายทำภาพยนตร์ระดับโลก ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จ ของการบูรณาการการทำงานอย่างแข็งขันของทุกฝ่ายที่มุ่งผลักดันนโยบายดังกล่าวอย่างเต็มที่ เพราะนอกจากจะก่อให้เกิดรายได้แก่เศรษฐกิจไทย ทั้งภาพรวม และระดับท่องถิ่นแล้ว ยังเป็นโอกาสเผยแพร่ความงดงามของศิลปวัฒนธรรมไทย และธรรมชาติอันหลากหลายและอุดมสมบูรณ์ที่เผยแพร่ไปสู่สายตาของชาวโลกด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เอง จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทยให้กลับมาได้หลังสถานการณ์โรคโควิด-19 คลี่คลาย และเป็นหนึ่งในนโยบายที่นายกรัฐมนตรีผลักดัน soft power เพื่อแก้ปัญหามิติเศรษฐกิจของชาติ”นายธนกรกล่าว

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 เม.ย. 65)

Tags: , ,
Back to Top