ที่ประชุมกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และพรรคการเมือง ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ในมาตรา 2 และ 3 ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้จัดตั้งพรรคการเมือง
โดยมีมติไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการแก้ไขมาตรา 9 ววรค 1 ตามร่างที่เสนอโดยนายอนันต์ ผลอำนวย ส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นรองประธาน กมธ. ซึ่งเกี่ยวโยงกับมาตรา 98 ของรัฐธรรมนูญที่เปิดช่องให้อดีต ส.ว., กลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และผู้ถูกตัดสิทธิทางการเมือง สามารถจัดตั้งพรรคได้ ด้วยคะแนนเสียง 24 ต่อ 19 งดออกเสียง 2 เสียง จากทั้งหมด 45 เสียง และให้กลับไปใช้ข้อความตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับปัจจุบันที่ห้ามบุคคลเหล่านี้เป็นผู้จัดตั้งพรรค
ดังนั้นจึงมีข้อสรุปว่าผู้ร่วมก่อตั้งพรรคต้องมีจำนวนมากถึง 500 คน ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี มีทุนประเดิม 1 ล้านบาท โดยผู้ร่วมก่อตั้งทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการจ่ายเงินไม่น้อยกว่า 1,000 บาท แต่ไม่เกิน 50,000 บาทต่อคน
ในประเด็นค่าบำรุงพรรคการเมืองรายปี และตลอดชีพ ที่ประชุมมีมติคงไว้มาตรา 3 และ 4 ตามเดิม ซึ่งเป็นการแก้ไขตามมาตรา 15 (15) และวรรค 4 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วยคะแนนเสียง 29 ต่อ 10 งดออกเสียง 2 เสียง ดังนั้นค่าบำรุงพรรคการเมืองรายปีจะอยู่ที่ 20 บาท และค่าบำรุงตลอดชีพอยู่ที่ 200 บาท
สำหรับประเด็นที่ยังต้องมีการถกเถียงกันมากคือเรื่องไพรมารีโหวตในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และสูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อว่าจะใช้สูตรหารด้วย 100 หรือ 500 ซึ่ง กมธ.จะกลับมาประชุมอีกครั้งในวันที่ 20 เม.ย.65 เนื่องจากสัปดาห์หน้าเป็นวันหยุดสงกรานต์ จึงไม่มีการประชุม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 เม.ย. 65)
Tags: กมธ., การเมือง, พรรคการเมือง, พรรคพลังประชารัฐ, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, อนันต์ ผลอำนวย, เลือกตั้งส.ส.