นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง ผู้ช่วยผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงหารือกับผู้ประกอบการโดยรอบพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ ในการจัดทำฟีดเดอร์เพิ่มเติมที่ต้องการเดินทางเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อให้ได้รับความสะดวกมากที่สุด โดย รฟท.จะทำฟีดเดอร์ ที่เป็นระบบราง เชื่อมเข้าสู่ระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง โดยสายเหนือ จะใช้สถานีรังสิต ส่วนสายใต้ คือ สถานีตลิ่งชัน เป็นสถานีเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสาร โดยจัดเดินขบวนรถไฟดีเซลวิ่ง Loop เป็นฟีดเดอร์ ช่วงอยุธยา – รังสิต ระยะทางประมาณ 40 กม. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 50 นาที และสายใต้ช่วงนครปฐม – ตลิ่งชัน ระยะทางประมาณ 30 กม. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 นาที
โดยปัจจุบัน ทั้ง 2 เส้นทาง มีการเดินรถให้บริการอยู่แล้ว การทำเป็นฟีดเดอร์จะต้องมีความถี่ ซึ่งจะต้องจัดสรรรถไฟดีเซลมาเพิ่มให้เหมาะสม โดยช่วงแรกจะมีความถี่ประมาณชั่วโมงละ 1 ขบวน ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มความสะดวกให้ประชาชนที่อยู่ในโซนนครปฐม และอยุธยา สามารถเดินทางเข้ากรุงเทพฯได้สะดวก รวดเร็วมากขึ้น รวมถึงอาจมีการจัดทำระบบตั๋วโดยสารร่วมกับรถไฟฟ้าสายสีแดงด้วย เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการเดินทาง และสนับสนุนให้ประชาชนใช้ระบบรางมากขึ้น โดยได้หารือกับมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ร่วมสนับสนุนการใช้ระบบรางในการเดินทาง
สำหรับแผนการย้ายรถไฟทางไกลมาให้บริการที่สถานีกลางบางซื่อนั้น นายอนันต์ กล่าวว่า จะมีการหารือรายละเอียดในเดือนเม.ย.นี้ ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาและดำเนินการในหลายส่วนคู่ขนานเพื่อให้เกิดความพร้อมมากที่สุด โดย รฟท.จะเร่งการทดสอบหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่ได้รับมอบชุดแรกจำนวน 20 คัน จากทั้งหมด 50 คัน ซึ่งอยู่ระหว่างติดตั้งระบบห้ามล้ออัตโนมัติ (ATP) รองรับกับมาตรฐาน ETCS level 1 ที่เพิ่มความปลอดภัยในการเดินรถ อีกทั้งมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมน้อย เพื่อรองรับการย้ายรถไฟทางไกลมาให้บริการที่สถานีกลางบางซื่อ
โดยจะนำหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้ารุ่นใหม่ มาให้บริการที่สถานีกลางบางซื่อ 16 คัน ขณะที่แผนการย้ายรถไฟทางไกลมาให้บริการที่สถานีกลางบางซื่อ จะใช้แผนเดิมที่เคยนำเสนอ คือ สายเหนือ 12 ขบวน สายตะวันออกเฉียงเหนือ 16 ขบวน ส่วนสายใต้ หากสามารถติดตั้ง ATP ได้ครบถ้วน อาจจะปรับรถไฟทางไกลมาให้บริการที่สถานีกลางบางซื่อได้ด้วย โดยยังคงมีรถไฟเชิงสังคม 22 ขบวน เข้าสถานีหัวลำโพง
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะปรับย้ายขบวนรถไฟทางไกลมาให้บริการที่สถานีกลางบางซื่อนั้น รฟท.จะทำการประชาสัมพันธ์ข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชน รวมไปถึงหารือกับคณะกรรมการผู้บริโภค ภาคประชาชน นักวิชาการองค์กรต่างๆ ให้ได้ข้อยุติ เพื่อประมวลข้อมูลให้รอบด้านอย่างครบถ้วน ก่อนที่จะนำเสนอคณะอนุกรรมการฯกระทรวงคมนาคมพิจารณาต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 เม.ย. 65)
Tags: การรถไฟแห่งประเทศไทย, รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท., รถไฟสายสีแดง, รฟท., รฟฟท., อนันต์ โพธิ์นิ่มแดง