CDC สหรัฐชี้คนติดโควิดเสี่ยงเป็นกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดมากกว่าคนฉีดวัคซีน

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐเปิดเผยผลการวิจัยในวันศุกร์ (1 เม.ย.) ระบุว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและภาวะหัวใจอักเสบอื่น ๆ มากกว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าว

CDC พบว่า ความเสี่ยงของการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด, เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ และการอักเสบหลายระบบหลังจากที่ติดเชื้อโควิด-19 นั้น สูงกว่าที่เกิดหลังการฉีดวัคซีนของไฟเซอร์หรือโมเดอร์นาของเพศชายและเพศหญิงที่มีอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม ภาวะเกี่ยวกับหัวใจเหล่านี้พบไม่บ่อยนักหลังการติดเชื้อ และหลังการฉีดวัคซีน

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเป็นการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ และเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบนั้นเป็นการอักเสบของเยื่อบุหัวใจชั้นนอก ขณะที่การอักเสบหลายระบบเป็นภาวะที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่ออวัยวะหลายระบบ

CDC ระบุว่า วัคซีนของไฟเซอร์และโมเดอร์นานั้นมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบหลังจากการฉีดเข็มที่ 2 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กชายอายุ 12 ถึง 17 ปี

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบหลังจากติดเชื้อโควิด-19 ของเด็กชายกลุ่มนี้ ก็ยังสูงกว่าหลังจากการฉีดวัคซีน

ในกลุ่มเด็กชายวัยรุ่น อัตราของการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบหลังการติดเชื้อโควิดนั้นอยู่ที่อย่างน้อย 50 รายต่อ 100,000 ราย เมื่อเทียบกับอย่างน้อย 22 รายต่อ 100,000 หลังจากฉีดวัคซีนโดสที่สอง

สำหรับความเสี่ยงโดยรวมของการเกิดภาวะเกี่ยวกับหัวใจหลังจากติดเชื้อโควิดนั้นเพิ่มขึ้นมากถึง 5.6 เท่าเมื่อเทียบกับการเกิดภาวะดังกล่าวหลังจากการฉีดวัคซีนโดสที่สอง และความเสี่ยงดังกล่าวหลังติดเชื้อยังสูงถึง 69 เท่าเมื่อเทียบกับภาวะดังกล่าวหลังการฉีดวัคซีนเข็มแรก

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 เม.ย. 65)

Tags: , , ,
Back to Top