นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) ปฎิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้ว่าราชการกทม. ระบุว่า ตามความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร มติที่ประชุม ครั้งที่ 4/2565 เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 65 มีคำสั่งกำหนดให้สถานที่ กิจการ หรือกิจกรรมดังต่อไปนี้ สามารถดำเนินการได้เป็นกรณีเฉพาะเพื่อการจัดกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2565 (ระหว่างวันที่ 10-15 เม.ย. 65) ดังนี้
1. การจัดกิจกรรมเนื่องในโอกาสเทศกาลสงกรานต์ที่มีการรวมกลุ่มของบุคคล จำนวนไม่เกินหนึ่งพันคน ให้ผู้ประกอบการ ผู้จัดงาน หรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบการจัดงาน ขออนุญาตต่อสำนักงานเขตพื้นที่ กรณีเกินหนึ่งพันคน ให้ขออนุญาตต่อสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ก่อนจัดงานอย่างน้อยห้าวัน เพื่อพิจารณาความเหมาะสมในการกำหนดมาตรการป้องกันควบคุมโรคและการคัดกรองผู้เข้าร่วมกิจกรรม ทั้งนี้ สถานที่จัดกิจกรรมควรจัดในพื้นที่โล่งแจ้ง อากาศระบายใด้ดี หลีกเสี่ยงการจัดกิจกรรมในพื้นที่คับแคบหรือในพื้นที่ห้องปรับอากาศ
2. พื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้จัดกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์ได้ตามข้อ 1 ให้ผู้ประกอบการผู้จัดงาน หรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบการจัดงาน จัดสถานที่และดำเนินกิจกรรมภายใต้มาตรการป้องกัน และลดความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาคแบบกลุ่มก้อน รวมทั้งมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (Covid Free Setting) ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ดังนี้
- การจัดกิจกรรมในลักษณะของการเล่นน้ำหรือจัดกิจกรรมตามวัฒนธรรมประเพณี เช่น การสรงน้ำพระ รดน้ำดำหัว การละเล่นตามประเพณี การแสดงทางวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ขบวนแห่ หรือการแสดงดนตรี สามารถกระทำได้
- ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการเล่นประแป้งและกิจกรรมในลักษณะปาร์ตี้โฟม
- ห้ามการจำหน่ายและการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในบริเวณพื้นที่จัดกิจกรรม
- ให้มีจุดคัดกรองบริเวณทางเข้าออกและให้มีการลงทะเบียนก่อนเข้าและออกจากสถานที่หรือพื้นที่จัดกิจกรรม
- ให้ควบคุมจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมมิให้แออัด ตามขนาดของสถานที่หรือพื้นที่จัดกิจกรรม เกณฑ์ไม่น้อยกว่า 4 ตารางเมตรต่อผู้เข้าร่วมกิจกรรม 1 คน โดยให้เข้าร่วมได้เฉพาะผู้ที่แสดงหลักฐานว่าบุคคลนั้นได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนด
3. ห้ามการเล่นน้ำ เล่นประแป้ง ปาร์ตี้โฟม หรือกิจกรรมใดๆ ที่เป็นความเสี่ยงต่อการระบาดของโรค ในพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ซึ่งไม่ให้รับอนุญาตให้จัดกิจกรรม โดยพื้นที่สาธารณะในข้อนี้ ไม่รวมถึงพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้จัดกิจกรรมตามประกาศนี้ ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะให้จัดกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์ใด้
4. สำหรับการจัดกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์ในพื้นที่หมู่บ้านหรือชุมชน สามารถดำเนินการได้ โดยผู้ที่ประสงค์จะจัดกิจกรรมต้องขออนุญาตต่อสำนักงานเขตพื้นที่ หรือสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี และดำเนินการตามมาตรการควบคุมและป้องกันโรคที่กำหนดไว้ในประกาศนี้และตามที่ทางราชการกำหนด ยกเว้นการจัดกิจกรรมรมมกลุ่มในครอบครัวสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมและป้องกันโรคที่กำหนด
5. สถานที่หรือการจัดกิจกรรมใดๆ ที่อาจทำให้เกิดมีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรค ให้ผู้ประกอบการ หรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินมาตรการความปลอดภัยตามหลักเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนดขึ้นเป็นการเฉพาะด้วย
6. กรณีนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ เจ้าของสถานที่ ผู้ประกอบการ ผู้ใช้บริการ ผู้ร่วมกิจกรรม และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง ยังต้องดำเนินการตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 51) ลงวันที่ 14 มี.ค. 65
ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม อาจมีความผิดตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มาตรา 51 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท และอาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อนึ่ง เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วน หากปล่อยให้เนิ่นช้าไป จะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สาธารณชนหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้ง ตามมาตรา 30 วรรคสอง (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 เม.ย. 65)
Tags: กทม., กรุงเทพมหานคร, ขจิต ชัชวานิชย์, สงกรานต์, เทศกาลสงกรานต์