นางกนกทิพย์ จันทร์พลังศรี ประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง (TPCH) เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 65 คาดว่ายังมีการเติบโตที่ดี สามารถทยอยรับรู้รายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ทั้งโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงไฟฟ้าขยะ รวม 11 แห่ง ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าชีวมวล CRB, MWE, MGP, TSG, PGP, SGP , PTG ,TPCH 5 , TPCH 1 ,TPCH 2 และโรงไฟฟ้าขยะ SP มีกำลังการผลิตรวม 116.3 เมกะวัตต์
“เราประเมินผลงานในปีนี้ คาดว่า ยังมีทิศทางที่ดี เนื่องจากจะเริ่มรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าขยะ สยาม พาวเวอร์ (SP) ที่ได้รับราคาค่าไฟค่อนข้างสูง รวมถึงโรงไฟฟ้าชีวมวลเดิมทั้ง 10 แห่ง ขณะเดียวกัน การเดินเครื่องของ โรงไฟฟ้าชีวมวล ปัตตานี กรีน เพาเวอร์ ,TPCH 1 , TPCH 2 , TPCH 5 มีความเสถียรมากขึ้น รวมทั้งการเตรียม COD โรงไฟฟ้าประชารัฐชีวมวลอีก 2 แห่ง มั่นใจว่าจะช่วยสนับสนุนผลงานในปีนี้ให้เติบโตที่ 30-40% ได้”
นางกนกทิพย์ กล่าว
ด้านนายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ TPCH กล่าวว่า TPCH เตรียมพร้อม COD โรงไฟฟ้าประชารัฐชีวมวล แม่ลาน กำลังการผลิตรับซื้อไม่เกิน 2.85 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าประชารัฐชีวมวล บันนังสตา กำลังการผลิตรับซื้อไม่เกิน 2.85 เมกะวัตต์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งมีความคืบหน้าไปมาก และคาดว่าจะสามารถ COD ได้ภายในไตรมาส 2/65
อีกทั้งยังมุ่งพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขยะอีกประมาณ 4-6 แห่ง ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) โดย คาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในปีนี้
นอกจากนี้ บริษัทยังคงตั้งเป้าหมายการมีกำลังการผลิตรวม 250 เมกะวัตต์ แบ่งออกเป็น โรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล ชีวภาพ ขนาด 200 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงขยะ 50 เมกะวัตต์ ภายในปี 66
“ในปี 65 นี้ TPCH ให้ความสำคัญและอยู่ระหว่างการศึกษานโยบายการขับเคลื่อน BCG (Bio-Circular-Green Economy) โดยการนำพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดที่ผลิตได้ในปี 2565 ประมาณ 122 เมกะวัตต์ มาทำการซื้อขาย Carbon Credit ในรูปแบบของ I-REC (International Renewable Energy Certificate) ซึ่งเป็นการขอรับรองเครดิตการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและนำ Carbon Credit มาขายเพื่อก่อให้เกิดรายได้จริงในปีนี้ ซึ่งโรงไฟฟ้าชีวมวล 10 เมกะวัตต์ จะลดก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 30,000-40,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี
ดังนั้น หากบริษัทมีโรงไฟฟ้า ประมาณ 122 เมกะวัตต์ จะลดก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 400,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ต่อปี และสามารถซื้อขาย I-REC ได้ประมาณ 700,000 I-REC ต่อปี อีกทั้ง ยังอยู่ระหว่างการศึกษาธุรกิจอื่นที่อาจก่อให้เกิดรายได้นอกเหนือจากการขายไฟฟ้าให้กับภาครัฐซึ่งจะส่งผลให้บริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่อง”
นายเชิดศักดิ์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 มี.ค. 65)
Tags: TPCH, กนกทิพย์ จันทร์พลังศรี, ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง, หุ้นไทย, เชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล, โรงไฟฟ้าขยะ, โรงไฟฟ้าชีวมวล