นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ว่า เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ภาคตะวันตก และภาคกลาง รวมทั้งความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้นในภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างไรก็ดี ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงจากความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโคนา 2019 และผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน
- เศรษฐกิจ กทม. และปริมณฑล ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง
ด้านอุปสงค์ พบว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ขยายตัว 25.5% 11.7% และ 10.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่รายได้เกษตรกรชะลอตัวทั้งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 26.9% ขณะที่จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ 2.9% ต่อปี แต่ชะลอลง -0.5% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล สำหรับเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการชะลอลงทั้งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล
ด้านอุปทาน มีสัญญาณการฟื้นตัวจากการท่องเที่ยว โดยจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนรวมขยายตัว 31.5% และ 14.3% ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่ในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมลดลงมาอยู่ที่ระดับ 41.7 และ 85.0 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 43.3 และ 88.7 ตามลำดับ
- เศรษฐกิจภาคตะวันตก ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง
ด้านอุปสงค์ พบว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ขยายตัว 7.1% และ 11.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ สอดคล้องกับรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 22.1% ขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัว 25.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล -4.9% สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวร้อยละ 420.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้วยเงินทุน 0.7 พันล้านบาท จากโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 2.997 เมกะวัตต์ ในจังหวัดสุพรรณบุรี และจากโรงงานขุดตักดิน กรวด ทราย และคัดขนาด ในจังหวัดกาญจนบุรี เป็นสำคัญ เช่นเดียวกับจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.1% ขณะที่จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล
ด้านอุปทาน มีสัญญาณการฟื้นตัวจากการท่องเที่ยว โดยจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนรวมขยายตัว 97.8% และ 50.9% ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่ในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมลดลง มาอยู่ที่ระดับ 42.6 และ 85.0 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 44.0 และ 88.7 ตามลำดับ
- เศรษฐกิจภาคกลาง ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง
ด้านอุปสงค์ พบว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ขยายตัว 13.8% และ 10.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนตามลำดับ สอดคล้องกับรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.0% ขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัว 23.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล -1.8% สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 12.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล -1.5% ขณะที่จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่แม้ว่าชะลอตัวลง -2.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล 2.8% เช่นเดียวกับ เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน -47.2% แต่ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลร้อยละ 163.7 ด้วยเงินทุน 0.3 พันล้านบาท จากโรงงานทำผลิตภัณฑ์โลหะ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นสำคัญ
ด้านอุปทาน มีสัญญาณการฟื้นตัวจากการท่องเที่ยว โดยจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนรวมขยายตัว 139.5% และ 110.4% ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่ในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมลดลง มาอยู่ที่ระดับ 42.6 และ 85.0 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 44.0 และ 88.7 ตามลำดับ
- เศรษฐกิจภาคใต้ ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชนโดยเฉพาะในหมวดสินค้าคงทน ขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง
ด้านอุปสงค์ พบว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ขยายตัว 3.8% และ 23.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ สำหรับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และรายได้เกษตรกร ขยายตัว 36.4% และ 20.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ แต่ชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล -1.9% และ -4.5% ตามลำดับ สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัว 228.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้วยเงินทุน 0.7 พันล้านบาท จากโรงงานฆ่าและชำแหละสุกร ในจังหวัดกระบี่ เป็นสำคัญ เช่นเดียวกับจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 13.2% ขณะที่จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล
ด้านอุปทาน มีสัญญาณการฟื้นตัวจากการท่องเที่ยว โดยจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนรวมขยายตัว 67.3% และ 218.2% ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่ในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมลดลง มาอยู่ที่ระดับ 39.6 และ 83.1 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 41.0 และ 85.0 ตามลำดับ
- เศรษฐกิจภาคตะวันออก ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน และความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น
ด้านอุปสงค์ พบว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ขยายตัว 3.6% และ 23.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ สำหรับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัว 36.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล -0.8% ขณะที่รายได้เกษตรกรชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 10.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ ชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล
ด้านอุปทาน มีสัญญาณฟื้นตัวจากการท่องเที่ยว โดยจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนรวมขยายตัว 248.2% และ 345.8% ต่อปี ตามลำดับ นอกจากนี้ ในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 109.2 จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 108.8 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 46.2 จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 47.7
- เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว การลงทุนภาคเอกชน และความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น
ด้านอุปสงค์ พบว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ และรายได้เกษตรกร ขยายตัว 16.0% และ 12.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 15.0% แต่ชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล -1.6% สำหรับจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่แม้ว่าชะลอตัวลง -3.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล 2.9% ด้านเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนสะท้อนจากเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัว 5.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้วยเงินทุน 0.8 พันล้านบาท จากโรงงานทำเครื่องประดับโดยใช้ทองคำ เงิน นาค หรืออัญมณี ในจังหวัดนครราชสีมา เป็นสำคัญ เช่นเดียวกับจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 17.0% ขณะที่จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่แม้ว่าชะลอตัวลง -4.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล 3.5%
ด้านอุปทาน มีสัญญาณการฟื้นตัวจากการท่องเที่ยว โดยจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนรวมขยายตัว 28.8% และ 9.8% ต่อปี ตามลำดับ นอกจากนี้ ในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 81.6 จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 80.5 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 47.4 จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 48.9
- เศรษฐกิจภาคเหนือ ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว ขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง
ด้านอุปสงค์ พบว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ และรายได้เกษตรกร ขยายตัว 6.5% และ 13.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 19.4% แต่ชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล -5.3% สำหรับจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่แม้ว่าชะลอตัวลง -1.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล 0.6% สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 9.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่แม้ว่าชะลอตัวลง -2.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล 8.3% สำหรับเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัว 51.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอลง -58.3% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล
ด้านอุปทาน มีสัญญาณการฟื้นตัวจากการท่องเที่ยว โดยจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนรวมขยายตัว 101.8% และ 113.4% ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่ในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมลดลง มาอยู่ที่ระดับ 46.1 และ 61.2 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 47.6 และ 63.5 ตามลำดับ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 มี.ค. 65)
Tags: lifestyle, พิสิทธิ์ พัวพันธ์, สศค., เศรษฐกิจภูมิภาค, เศรษฐกิจไทย